รู้ทัน-โรคโรคโลหิตจาง-เลือดจาง

เลือดจาง/โลหิตจาง โรคที่น่ากลัวกว่าที่คิด

Views
  • ภาวะโลหิตจาง คือภาวะที่ร่างกายมีความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงน้อย และค่าระดับฮีโมโกลบินต่ำ
  • อาการที่มาพร้อมกับภาวะโลหิตจาง เช่น ซีด อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดบ่อย หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก และอาจถึงขั้นเสียชีวิต
  • สาเหตุของภาวะโลหิตจางมีหลายสาเหตุ เช่น ขาดสารอาหาร ร่างกายสูญเสียเลือดมาก หรือมีความผิดปกติในร่างกายจนทำให้มีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ
  • วิธีรักษาภาวะโลหิตจางจะรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ เช่น เสริมสารอาหาร
  • ภาวะโลหิตจางแต่กำเนิดไม่สามารถป้องกันได้ แต่ปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดภายหลังสามารถป้องกันได้ เช่น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  • หากสงสัยว่า เป็นภาวะโลหิตจาง หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ อย่าเพิกเฉย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

ภาวะโลหิตจาง (Anemia)” หรือเลือดจาง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ภาวะซีด” หรือ “เลือดน้อย” คือภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ดีเท่าที่ควร

การที่ร่างกายมีภาวะโลหิตจางจะทำให้เกิดอาการซีด วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น และบางคนอาจเป็นลมหมดสติได้แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ

าจได้ยินคำว่า เลือดจาง หรือโลหิตจางกันอยู่บ่อยๆ และคิดว่าเกิดจากร่างกายขาดสารอาหาร แต่รู้หรือไม่ว่า ภาวะโลหิตจางนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด และเพิ่งเป็นภายหลัง ซึ่งแต่ละสาเหตุนั้นก็มีความรุนแรงต่างกันไป

อาการของภาวะโลหิตจาง

การที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติทำให้ร่างกายขาด “ฮีโมโกลบิน” ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์ และเนื้อเยื่อต่างๆ โดยระดับค่าฮีโมโกลบิน และความเข้นของเม็ดเลือดแดงแตกต่างกันในแต่ละเพศสภาพ ดังนี้

  • ผู้หญิงค่าฮีโมโกลบินในเลือดต่ำกว่า 12 กรัม/เดซิลิตร และมีค่าเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 36 เปอร์เซ็นต์
  • ผู้ชาย: ค่าฮีโมโกลบินในเลือดต่ำกว่า 13 กรัม/เดซิลิตร และมีค่าเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 39 เปอร์เซ็นต์

อาการผิดปกติที่มาพร้อมกับภาวะโลหิตจาง

  • อ่อนเพลีย ใจสั่น และเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • เหลือง ซีด มือเท้าเย็น ผิวหนังไม่มีเลือดฝาด
  • วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว มึนงง และหน้ามืดบ่อย
  • หายใจลำบาก และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นบางครั้ง
  • ไม่สดชื่น

ทั้งนี้ความรุนแรง และความถี่ในการเกิดอาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากภาวะโลหิตจางเกิดจากสาเหตุที่รุนแรงมาก ก็อาจอันตรายถึงขั้นเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ช็อก และเสียชีวิต

หากมีอาการเข้าข่ายภาวะโลหิตจาง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count) โดยหากตรวจพบว่า ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงน้อยจะได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะโลหิตจาง

สาเหตุของภาวะโลหิตจาง

การที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยลงจนนำไปสู่ภาวะเลือดจางนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

1. ร่างกายสูญเสียเลือดมาก

เป็นสาเหตุของภาวะโลหิตจางที่พบได้บ่อย โดยการเสียเลือดอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน หรือเกิดแบบเรื้อรังก็ได้

ตัวอย่างปัจจัยที่ทำให้เสียเลือดมาก ได้แก่

  • การเกิดอุบัติเหตุ
  • การตกเลือดจากการคลอด หรือแท้งบุตร
  • การติดเชื้อพยาธิปากขอ
  • เสียเลือดจากการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • เลือดออกจากทางเดินอาหาร
  • อุจาระมีเลือดปน

2. มีการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อย

ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ มีทั้งโรคที่เป็นมาแต่กำเนิด และโรคที่เกิดขึ้นภายหลัง

ตัวอย่างปัจจัยที่ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อย ได้แก่

  • มีความผิดปกติของไขกระดูก เช่น ไขกระดูกฝ่อ ติดเชื้อในไขกระดูก มะเร็งไขกระดูก เนื่องจากไขกระดูกเป็นอวัยวะที่สร้างเม็ดเลือดแดงในผู้ใหญ่
  • มีความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ภาวะขาดฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากไต และกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง การขาดฮอร์โมนดังกล่าวอาจเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด
  • โรคเรื้อรัง เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับ และข้ออักเสบ

3. ขาดสารอาหาร

รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะวิตามินบี 12 โฟเลต และธาตุเหล็ก สารอาหารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง การขาดสารอาหารเหล่านี้จะทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร และผู้มีรายได้น้อย

4. การตั้งครรภ์

ว่าที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วง 6 เดือนแรก อาจมีภาวะขาดโฟเลต และธาตุเหล็ก ทำให้มีโอกาสเกิดโลหิตจางได้บ่อยๆ การรับประทานโฟเลต และธาตุเหล็กเสริมขณะตั้งครรภ์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโลหิตจางได้

5. มีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ

ปัจจัยที่ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากกว่าปกตินั้นมีมากมาย ซึ่งมีทั้งปัจจัยที่เป็นแต่กำเนิดและปัจจัยที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น

  • โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้เกิดอาการผิดปกติตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดของธาลัสซีเมีย
  • โรค Sickle cell anemia ทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติ ไม่สามารถขนส่งออกซิเจนได้สมบูรณ์ และถูกทำลายได้ง่าย
  • มีม้ามโต ซึ่งม้ามเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดง
  • โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • โรคไขกระดูกเสื่อม

6. ปัจจัยอื่นๆ

ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เช่น เกิดการติดเชื้อไวรัสบางชนิด ร่างกายขาดเอนไซม์บางตัว หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะโลหิตจาง

อันตรายจากภาวะโลหิตจางโดยทั่วไปมักมาจากอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย ทำให้ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้ตามปกติ หรืออาจหน้ามืด เป็นลม หมดสติ จนเกิดอุบัติเหตุได้

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโลหิตจาง “หัวใจ” จะต้องทำงานหนักกว่าปกติเพื่อสูบฉีดเลือด ทำให้อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจวายได้เช่นกัน

ส่วนผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่ต้องรับเลือดเป็นประจำ ก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเหล็กเกินซึ่งอาจเป็นอันตรายได้

การรักษาภาวะโลหิตจาง

การรักษาภาวะโลหิตจางจะรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เช่น

1. การรับสารอาหารเสริม

ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจำนวนมาก มักขาดสารอาหารสำคัญทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้รับประทานธาตุเหล็ก วิตามิน บี12 และโฟเลตเสริม รวมถึงรับประทานอาหารที่มีสารอาหารดังกล่าวสูงด้วย เช่น เครื่องในสัตว์ นม ไข่ และผักใบเขียว

2. การรับฮอร์โมนเสริม

วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ขาดฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน โดยแพทย์จะฉีดฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง นอกจากนี้ผู้ที่มีประจำเดือนมากกว่าปกติ หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ เช่น ผู้ที่อยู่ในวัยทอง อาจต้องรับฮอร์โมนบางอย่างเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย

3. การรับเลือดทดแทน

ใช้รักษาในผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการเสียเลือดมาก และผู้ที่เป็นโรคทางพันธุกรรมทำให้มีโลหิตจางอย่างรุนแรง เช่น ผู้ป่วยธาลัสซีเมียบางชนิด สิ่งที่ต้องระวังจากการรับเลือดเป็นประจำคือ “ภาวะเหล็กเกิน” ทำให้ผู้ป่วยบางคนต้องรักษาด้วยวิธีล้างพิษหลอดเลือด (Chelation therapy) เพื่อขับเหล็กออกจากร่างกายด้วย

4. การปลูกถ่ายไขกระดูก

ในกรณีที่มีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง และสาเหตุมาจากความผิดปกติของไขกระดูก แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนถ่ายไขกระดูก โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาคที่มีความเข้ากันได้กับร่างกายผู้ป่วย

5. การตัดม้าม

หากมีภาวะม้ามโต และเกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงมาก แพทย์อาจรักษาด้วยการตัดม้าม ซึ่งจะช่วยให้อาการซีด และภาวะเลือดจางดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ภูมิคุ้มกันร่างกายอาจอ่อนแอลงหลังตัดม้าม ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

การป้องกันภาวะโลหิตจาง

ภาวะโลหิตจางที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมนั้นไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถป้องกันปัจจัยอื่นๆ ซึ่งรับมาภายหลังได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เสียเลือดมาก
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีธาตุเหล็ก วิตามินบี12 และโฟเลตสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ นม ไข่ ผักใบเขียว และธัญพืช โดยเฉพาะหากอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์
  • หากมีประจำเดือนมากผิดปกติ หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ เช่น ผู้ที่อยู่ในวัยทอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับประทานธาตุเหล็กและโฟเลตเสริม
  • ไม่รับประทานยาชุด เช่น ยาแก้ปวดเมื่อย เนื่องจากอาจระคายเคืองกระเพาะอาหารทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหารและลำไส้ได้
  • หากมีภาวะโลหิตจางอยู่แล้ว และวางแผนจะมีลูก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้โรคถ่ายทอดไปสู่ลูก
  • หากมีอาการปวดเสียดแน่นท้อง ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ เช่น มีเลือดปนออกมา มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ หรือสงสัยว่ามีภาวะโลหิตจาง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

ข้อมูลจาก:https://www.honestdocs.co

Leave a Reply