มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal Cancer) คือ เซลล์ภายในหลอดอาหารมีการแบ่งตัวขึ้นอย่างผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย และแพร่กระจายลุกลามไปยังส่วนอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ทั้งที่อยู่ใกล้เคียงกันและกระจายเข้าสู่กระแสเลือดและระบบน้ำเหลืองทั่วร่างกาย มักพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 45 – 70 ปี และพบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง (เฉลี่ย 3 – 4 เท่า) เลยทีเดียว
มะเร็งหลอดอาหาร พบมากในคนอายุช่วง 45-70 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
สาเหตุของโรคมะเร็งหลอดอาหาร
สำหรับโรคมะเร็งหลอดอาหารนั้นในปัจจุบันยังคงไม่ทราบสาเหตุของโรคที่ชัดเจน แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคดังนี้
– ช่วงอายุในผู้ที่มีอายุระหว่าง 45 – 70 ปี มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารสูงสุด
– ความผิดปกติทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคล (ไม่เกี่ยวกับกรรมพันธุ์)
– ผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่เป็นประจำ
– ผู้ที่ขาดสารอาหาร หรือรับประทานอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่
– ในผู้ที่ชอบรับประทานอาหารซ้ำๆ ติดๆ กันหลายวัน หรือไม่รับประทานอาหารหลากหลาย
– ในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ทำให้เยื่อบุภายในหลอดอาหารมีแผล หรือบาดเจ็บเรื้อรัง
– ในผู้ที่เคยกลืนน้ำยาล้างห้องน้ำมาก่อน
– ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดในหลอดอาหาร
– ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากมักเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งหลอดอาหารมากกว่าคนทั่วไป
อาการของโรคมะเร็งหลอดอาหาร
ในผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหารในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอากาแสดงใดๆ ปรากฏให้เห็นชัดเจน แต่จะมีอาการมากขึ้นเมื่อโรคลุกลามหรือแพร่กระจายดังนี้
– รู้สึกกลืนอาหารลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บบริเวณลำคอจนถึงลิ้นปี่ เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นแม้กระทั่งอาหารอ่อนๆ อย่างโจ๊ก หรือข้าวต้ม ก็กลืนลำบาก จนกระทั่งกลืนน้ำลายไม่ได้เลยทีเดียว
– มีน้ำลายหรือเสมหะปนเลือดออกมา
– อาเจียนเป็นเลือด
– มีอาการสำลักขณะกลืนอาหาร
– เวลารับประทานอาหารมักจะมีอาการไอ
– รู้สึกอ่อนเพลีย
– เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
– เสียงเริ่มแหบพร่าลง
– เมื่อคลำพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้าหรือคอที่สามารถโตขึ้นได้
– เมื่อแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ จะรู้สึกปวดหลัง
เมือเกิดอาการกลืนอาหารลำบากและอาเจียนเป็นเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจจะเป็นอาการของโรคมะเร็งหลอดอาหาร
วิธีการรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหาร
1. โดยการผ่าตัด สำหรับวิธีการนี้มักจะใช้ในผู้ป่วยที่มีระยะอาการเริ่มแรก และมีอาการในบริเวณช่องอก หรือหลอดอาหารส่วนปลายที่สามารถทำการผ่าตัดได้ รวมทั้งผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการกลืนอาหารลำบาก
2. โดยรังสีรักษา หรือการฉายรังสี วิธีการนี้มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการลุกลามของโรคไม่มาก รวมทั้งต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง หรือในผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดได้ และการฉายรังสีนี้เป็นวิธีการเดียวที่สามารถใช้ร่วมกับการผ่าตัดและการให้เคมีบำบัดร่วมด้วย
3. โดยการให้เคมีบำบัด วิธีนี้เรียกได้ว่าเป็นการรักษาที่ตรงจุด เพื่อป้องกันไม่ให้กลับเป็นซ้ำ รวมทั้งฆ่าเซลล์มะเร็งที่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ หรือซุกซ่อนอยู่ทั่วร่างกายด้วย
การผ่าตัด ฉายรังสี และเคมีบำบัด คือวิธีหลัก ๆ ในการรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหาร
การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร
ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีวิธีการป้องกันใดที่จะสามารถป้องกันโรคมะเร็งหลอดอาหารได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดความเสี่ยงจากโรคนี้ลงได้ เช่น
– การรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
– ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำโดยไม่ต้องหักโหมจนเกินไป
– งดเว้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่
– ไม่รับประทานอาหารซ้ำ ๆ กันทุกวัน ควรเปลี่ยนเมนูอาหารทุกวัน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับสารเคมี หรือสารต่าง ๆ เดิม ๆ ติดกันทุกวัน
– พยายามควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
การเลิกบุหรี่และเหล้า จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเราแทบจะไม่รู้เลยว่ามะเร็งนั้นจะเกิดขึ้นมาตอนไหน และเมื่อใด มีหนทางเดียวคือเราต้องหมั่นสังเกตอาการ และไปตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคให้ร่างกายแข็งแรง
ขอขอบคุณข้อมูล:teenung.com