โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

วัยหนุ่มสาว เสี่ยง! หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

Views

“โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” ไม่ได้พบแค่ในผู้สูงอายุเท่านั้น ทุกคนสามารถเป็นโรคนี้ได้ หากไม่ดูแลตัวเอง ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง เพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงอายุ และในหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงาน ช่วงอายุตั้งแต่ 25–50 ปี

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะเล่าเรื่อง โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ให้ฟัง

หมอนรองกระดูก คืออะไร

หมอนรองกระดูก คือ เนื้อเยื่อที่ลักษณะด้านนอกเป็นเหมือนพังผืดเหนียว ๆ ซ้อนกันเป็นวงรอบหลาย ๆ ชั้น และด้านในนุ่ม ๆ หยุ่น ๆ คล้ายวุ้น พบในบริเวณส่วนที่เชื่อมต่อ ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ที่วางพาดยาวไปตั้งแต่คอ อก จนถึงเอว

กระดูกสันหลัง

หน้าที่ของหมอนรองกระดูก

ปกติแล้วหมอนรองกระดูกสันหลัง มีลักษณะคล้าย “โช๊คอัพ” อยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง มีคุณสมบัติในการยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทก ที่เกิดจากการใช้งาน และปกป้องกระดูกจากกิจกรรม ที่ทำให้เกิดแรงกระแทก อย่างการเดิน ยกของ บิดตัว หรือเวลาที่เคลื่อนไหว

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากอะไร

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากหมอนรองกระดูก ที่บริเวณกระดูกสันหลัง ถูกทำลายจนเสียหาย อาจเพราะการได้รับบาดเจ็บ หรือกระดูกเสื่อม ทำให้หมอนรองกระดูกแตก และกระดูกอ่อน ที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกโผล่ออกมา

นั่งผิดท่า ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อม

อาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ นานมากกว่า 2 สัปดาห์

1.ปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ นานมากกว่า 2 สัปดาห์
2.ปวดขา ตั้งแต่บริเวณสะโพกร้าว ไปบริเวณน่อง เท้า ซึ่งจะปวดมากเวลาเดิน ต้องหยุดเดินเป็นระยะ ๆ
3.ผู้ป่วยจะมีอาการปวดขาร่วมกับอาการชา อ่อนแรง หรือเจ็บบริเวณแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ซึ่งส่วนใหญ่ เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว

หมอนรองกระดูกที่เสื่อม และทับเส้นประสาทบ่อยที่สุด

หมอนรองกระดูกสันหลัง ตรงข้อด้านล่างของกระดูกเอว เป็นจุดที่มีความเสื่อมสูงสุด และพบการกดทับของเส้นประสาทได้บ่อย รวมถึงหมอนรองกระดูกสันหลังที่คอ ที่มีโอกาสเสื่อมมากเช่นกัน ทั้งนี้หากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ยุบตัวลงมา แต่ไม่กดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยก็อาจจะไม่มีอาการปวดแต่อย่างใด เช่นเดียวกัน หากหมอนรองกระดูกยังไม่เสื่อม แต่บังเอิญไปกดทับเส้นประสาท ก็จะมีอาการได้

การนั่งที่ถูกต้องคือนั่งหลังตรง

คนที่เสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

1.กลุ่มผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีความเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมอยู่แล้ว เมื่อออกแรง หรือใช้แรงมาก ๆ อาจทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังแตกออกมากดทับเส้นประสาทได้ในทันที เราเรียกว่า “โรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทชนิดเฉียบพลัน”

2.กลุ่มวัยหนุ่มสาวที่ Activity มาก ๆ ออกกำลังกายหนัก ๆ โลดโผน หรือเคยมีอุบัติเหตุ มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลัง ได้ง่ายกว่าคนที่ใช้ชีวิตแบบธรรมดา แต่คนที่ใช้ชีวิตแบบธรรมดา หากใช้งานกระดูสันหลังไม่ถูกต้อง หมอนรองกระดูกสันหลังก็เสื่อมได้ เช่น ออฟฟิศซินโดรม

หากปวดเอวเป็นนาน ให้สันนิษฐานว่าเป็นหมอนรองกระดูก

พฤติกรรมเสี่ยงของการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

1.มีน้ำหนักมาเกินไป ทำให้หลังแอ่น และกระดูกสันหลังส่วนล่าง ต้องรับน้ำหนักตลอดเวลา
2.แบกของหนัก ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังแทนกล้ามเนื้อขา และต้นขา กระดูกจึงบิดและเคลื่อนได้
3.ใช้งานผิดท่า เช่น การก้มยกของโดยไม่ระวัง
4.สูบบุหรี่จัด เป็นปัจจัยที่สำคัญของการเสื่อมของหมอนรองกระดูก
5.ขาดการออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อฝ่อ มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อหมอนรองกระดูกได้มากขึ้น
6.เสื่อมตามวัย และพันธุกรรม หากมีพ่อแม่เป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนอื่น
7.เล่นกีฬาที่ต้องออกแรงเยอะ เช่น การตีกอล์ฟ เทนนิส
8.คนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับแรงการกระแทกบริเวณหลัง
9.คนที่ต้องขับรถติดต่อกันหลายชั่วโมง นั่งในท่าเดิมนาน ๆ

กอล์ฟ กีฬาที่เสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูก

เทคโนโลยีการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาโรคใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลา และเทคโนโลยีที่พูดถึงกันมาก คือ การผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้อง Microscope กำลังขยายสูง และการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope ซึ่งสามารถใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปหยิบหมอนรองกระดูกที่แตกออกได้โดยตรง แต่การผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท และไขสันหลัง จำเป็นต้องมีความแม่นยำสูง หากพลาดพลั้งอาจทำให้เป็นอัมพาตได้

เบาะพิงหลัง อุปกรณ์ช่วยลดความเสี่ยงเวลานั่ง

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

1.รับประทานยาแก้อักเสบ หรือยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการปวด
2.ทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยที่ยังเป็นไม่มาก การกายภาพบำบัด จะช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น
3.การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ปวดมาก แต่การกดทับเป็นน้อย จนถึงปานกลาง
4.การผ่าตัดหมอนรองกระดูก ผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) โดยเจาะ และสอดกล้อง Endoscope ผ่านใยกล้ามเนื้อไปยังหมอนรองกระดูก ส่วนที่กดทับเส้นประสาท และใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้อง เข้าไปตัดหมอนรองกระดูกโดยตรง
5.การผ่าตัดหมอนรองกระดูก ด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microdiscectomy) โดยใส่อุปกรณ์เข้าไป เพื่อเลาะกล้ามเนื้อออกจากกระดูกเป็นแนวยาว แล้วตัดกระดูกบางส่วนออก เพื่อให้สามารถผ่าตัดตำแหน่งที่มีการกดทับของเส้นประสาทได้
6.การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูก โดยใช้คอมพิวเตอร์นำวิถี

ท่าบริหารเสริมกล้ามเนื้อหลัง สร้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง

ท่าบริหารที่ 1

นอนหงาย ยกขาขึ้นข้างหนึ่งให้สูงจากพื้นประมาณ 1 คืบ เข่าเหยียดตรง กระดกปลายเท้าเข้าหาตัว ค้างไว้ 5 วินาที แล้วทำสลับกับขาอีกข้าง ทำอย่างน้อย 3-5 ครั้ง ทุกเช้า-เย็น

ท่าบริหารที่ 2

นอนหงาย ใช้มือทั้งสองกอดเข่าข้างหนึ่ง โน้มเข่าลงมาให้ชิดลำตัว ค้างไว้ 5 วินาที แล้วทำสลับกับเข่าอีกข้าง ทำอย่างน้อย 3-5 ครั้ง ทุกเช้า-เย็น

ใช้มือทั้งสองกอดเข่าข้างหนึ่ง โน้มเข่าลงมาให้ชิดลำตัว ค้างไว้ 5 วินาที

ท่าบริหารที่ 3

นอนหงาย ชันเข่าขึ้น ประสานมือสองข้างไว้ด้านหลังบริเวณเอว จากนั้นแขม่วท้อง กดหลังลงค้างไว้ 5 วินาที ทำอย่างน้อย 3-5 ครั้ง ทุกเช้า-เย็น

ชันเข่าขึ้น ประสานมือสองข้างไว้ด้านหลังบริเวณเอว จากนั้นแขม่วท้อง กดหลังลงค้างไว้ 5 วินาที

สรุป

อย่างไรก็ตามโรคหมอนรองกระดูกทัยเส้นประสาทนี้ สามารถรักษาหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ในช่วงเวลาทำงาน เราโดยการหลีกเลี่ยงการนั่ง ยืน เดิน เป็นระยะเวลานาน ๆ หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ แต่ท้ายที่สุดหมอนรองกระดูกสันหลังของทุกคนก็ต้องเสื่อมสภาพอยู่แล้ว ขึ้นอยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

อ้างอิงข้อมูลจาก

www.thaihealth.or.th
www.bangkokhospital.com
www.health.kapook.com
www.bumrungrad.com
www.siphhospital.com

ขอบคุณภาพจาก

www.pt.mahidol.ac.th
www.bloggang.com
www.haamor.com

Leave a Reply