โรคอ้วนลงพุงหรือ Metabolic syndrome เป็นภาวะที่อ้วนโดยเฉพาะส่วนเอวและทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลายระบบ Metabolic syndrome คำนี้เป็นคำศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้การอย่างแพร่หลาย หมายถึงกลุ่มโรคที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติ ส่งผลทำให้เกิดโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ในที่สุดจะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง สมัยก่อนเรียกกลุ่มโรคนี้ว่า Syndrome X, insulin resistance syndrome
เกณฑ์การวินิจฉัย
เพราะในการวินิจฉัยภาวะอ้วนลงพุงตามเกณฑ์ของ Adult treatment Panel III และดัดแปลงมาใช้กับชาวเอเชีย ผู้ป่วยจะต้องมีลักษณะ 3 ใน 5 ข้อดังต่อไปนี้
1. จะต้องอ้วนชนิดลงพุง กล่าวคือมีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตร และ 80 เซนติเมตร ในชายและหญิงตามลำดับ
2. มีความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท หรือได้รับยารักษาความดันโลหิต
3. มีระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือเป็นผู้ที่เป็นไขมันสูงและได้รับยาลดไขมัน
4. มีระดับไขมันชนิดดีน้อยกว่า 40 และ 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับชายและหญิง หรือผู้ที่เป็นไขมันสูงและได้รับยาลดไขมัน
5. มีระดับน้ำตาลสูงกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
จากเกณฑ์การวินิจฉัยดังกล่าว คุณเพลินใจ ซึ่งมีรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร มีความดันโลหิตเกิน 130/85 มิลลิลิตรปรอท ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงถึง 300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จึงเข้าเกณฑ์ของภาวะอ้วนลงพุง ในขณะที่คุณคณิตไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว เพราะรอบเอวไม่เกิน 90 เซนติเมตร และความดันโลหิตไม่เกิน 130/85 มิลลิลิตร ถึงแม้ว่าจะมีระดับไขมันในเลือดเท่ากันก็ตาม
โดยผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง 3 ข้อ ซึ่งเข้าข่ายว่าเป็นภาวะอ้วนลงพุงนั้น มีอัตราเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่วนผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง 4 ข้อ จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 3 เท่า รวมถึงเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 24 เท่า ซึ่งกรณีของคุณเพลินใจที่มีปัจจัยเสี่ยง 3 ข้อ จึงมีอัตราการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า
ภาวะอ้วนลงพุงก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ โดยขึ้นกับองค์ประกอบของโรค ได้แก่
ทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบจึงเกิดโรคหัวใจได้ง่าย
ไตจะขับเกลือออกได้น้อยลง ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
ไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดตีบ เพราะเลือดจะแข็งตัวได้ง่ายทำให้อุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองหรือหัวใจ ทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ง่าย
จะเห็นว่าผลเสียส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อหลอดเลือดแดงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน หรือเบาหวาน
การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มโรค metabolic syndrome ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคเบาหวาน รวมถึงจะต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดอื่นด้วย ทำให้การรักษาโดยการปรับพฤติกรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น
1. การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ด้วยการลดอาหารประเภทไขมันลง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีมากในเนื้อสัตว์ที่ติดมัน หนังสัตว์ อาหารทะเลพวกกุ้งและปลาหมึก น้ำมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว โดยไม่ควรรับประทานอาหารพวกแป้งเกินร้อยละ 50 ของอาหารที่รับประทาน แต่ให้รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ข้าวกล้อง ผัก พืชตระกูลถั่ว
2. ลดอาหารเค็ม ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความดันโลหิต
3. ลดน้ำหนัก พบว่าการลดน้ำหนักลงร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักตัว จะชะลอหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
4. แนะนำให้ออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ในกรณีที่เป็นโรคเหล่านี้อยู่แล้วการออกกำลังกายจะช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้น
5. ปรับเปลี่ยนอาหาร
การปรับเปลี่ยนอาหารที่มีส่วนช่วยลดไขมันช่องท้อง ได้แก่
1. เปลี่ยน “ข้าวขาว-แป้งขาว-น้ำตาล” เป็นธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังเติมรำ(โฮลวีท) ฯลฯ, ลดเครื่องดื่มเติมน้ำตาล เช่น ชาเขียวรสหวาน-กาแฟเย็น ฯลฯ
2. กินโปรตีน (ถั่ว เต้าหู้ โปรตีนเกษตร งา ไข่ เนื้อ นม) ที่ไม่ผ่านการทอด ลดเนื้อสำเร็จรูป ลดเนื้อติดมัน ลดอาหารทอด
3. ลดไขมันอิ่มตัว เช่น กะทิ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ฯลฯ
4. ลดไขมันทรานส์ หรือไขมันแปรรูปในโรงงาน เช่น เบเกอรี่ คุกกี้ เค้ก ขนมใส่ถุง ฟาสต์ฟูด ฯลฯ
5. ไม่ลดน้ำหนักเร็วเกิน 1/2 กก./สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายอาจปรับตัวเข้าสู่ภาวะขาดอาหาร ซึ่งจะเพิ่มการสะสมไขมันช่องท้องได้ (การลดน้ำหนักเร็วเพิ่มเสี่ยงหนังเหี่ยว หน้าแก่ได้เช่นกัน)
หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ไขมัน หรือความดันโลหิตได้ตามเป้าหมาย ก็จำเป็นต้องใช้ยาในการควบคุม โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับโรคที่เป็น
ขอบคุณข้อมูลจาก : kapook