เพราะ 40 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ภาวะโภชนาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ส่งผลต่อสุขภาพของตนเองและทารกในครรภ์ มีรายงานทางการแพทย์ยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ เช่น โลหิตจาง ครรภ์เป็นพิษ เบาหวาน ไทรอยด์ รวมถึงการคลอดก่อนกำหนด และทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติมีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ คุณผู้หญิงที่เริ่มวางแผนตั้งครรภ์และอยากมีการตั้งครรภ์ที่ดีมีความสุขได้ทารกที่สมบูรณ์แข็งแรง จึงควรให้ความสำคัญอย่างมากกับการดูแลน้ำหนักตัวและภาวะโภชนาการของตนเองทั้งก่อนและระหว่างตั้งครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์กับสารอาหารสำคัญ
หลักการง่าย ๆ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในการรับประทานอาหารนั่นคือ ทานให้หลากหลายและครบทุกหมู่เป็นประจำทุกวัน อาทิ แป้ง โปรตีน ผัก ผลไม้ เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนเพียงพอ แต่หากทำไม่ได้หรือไม่แน่ใจควรให้ความสำคัญกับสารอาหารดังต่อไปนี้
โปรตีน
โปรตีนสำคัญสำหรับการนำไปใช้เสริมสร้างอวัยวะและกล้ามเนื้อของมารดาและทารกจึงควรรับประทานโปรตีนจากสัตว์ ไข่ และพืชให้หลากหลาย ปริมาณที่คนตั้งครรภ์ต้องการเท่ากับ 75 – 110 กรัมต่อวัน ในทางปฏิบัติเพื่อให้ง่าย ควรเพิ่มสัดส่วนโปรตีนแต่ละมื้อให้ไม่ต่ำกว่า 30 – 40% ก็น่าจะเพียงพอ
สารโฟลิก
กรดโฟลิกหรือโฟเลตเป็นสารอาหารสำคัญอันดับแรกที่คุณแม่ที่กำลังจะหรือตั้งครรภ์แล้วขาดไม่ได้ เพราะโฟเลต เป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับการสังเคราะห์ดีเอนเอของเซลล์เพื่อสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ มีรายงานพบทารกสมองไม่ปกติและท่อหุ้มไขสันหลังไม่ปิดในมารดาที่ขาดสารโฟเลต
เนื่องจากสมองและไขสันหลังจะพัฒนาอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ภายใน 28 วันหลังการปฏิสนธิ มีรายงานพบว่า การบริโภคสารโฟเลต 400 – 800 มิลลิกรัมต่อวัน ก่อนการตั้งครรภ์และในช่วง 28 วันหลังการปฏิสนธินี้ มีผลทำให้อุบัติการณ์ของการเกิดความผิดปกติของทารกลดลงอย่างมาก
กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้สตรีวัยเจริญพันธุ์รับประทานสารโฟเลต 400 มิลลิกรัมต่อวันโดยโฟเลตพบมากในอาหารจำพวกพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ พบมากในพืชใบเขียว ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว ตับ ไต และยีสต์ แต่อย่างไรก็ตามอาหารพวกนี้อาจไม่เพียงพอ ควรทานอาหารเสริมที่มีสารโฟเลตร่วมด้วยจะดีที่สุด
ธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กจำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดเลือดที่เพิ่มจำนวนอย่างมากในช่วงตั้งครรภ์ ปริมาณเลือดในร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 70% เพื่อให้เพียงพอต่อการนำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงทารกที่อาศัยอยู่ในครรภ์มารดา จากสถิติพบว่า สตรีตั้งครรภ์มากกว่าครึ่งมีภาวะโลหิตจางจากการได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ
ภาวะโลหิตจางของคุณแม่ถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการคลอดทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้หญิงมีครรภ์ควรได้ธาตุเหล็กไม่ต่ำกว่า 27 มิลลิกรัมต่อวันนอกจากนี้ยังพบว่า 15% ของหญิงวัยเจริญพันธุ์มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและมีผลต่อสภาวะมีบุตรยาก ดังนั้นผู้หญิงกลุ่มนี้ควรพิจารณาทานธาตุเหล็กเสริมตั้งแต่ก่อนจะตั้งครรภ์
แคลเซียม
แคลเซียมมักดูดซึมได้ดีขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ สตรีมีครรภ์ต้องการแคลเซียมวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งสูงกว่าช่วงไม่ตั้งครรภ์ไม่มากนัก ดังนั้นจึงแนะนำให้สตรีมีครรภ์ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ เช่น ดื่มนมไม่ได้ ควรได้รับแคลเซียมเสริมวันละ 600 มิลลิกรัม
วิตามินรวม
อาจมีประโยชน์ในคุณแม่ที่ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง หากจะใช้ควรปรึกษาสูติแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพราะวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินเอ ในปริมาณที่มากเกินไป เกิน 10,000 ยูนิตต่อวัน ทำให้ทารกพัฒนาการผิดปกติได้
คุณแม่ตั้งครรภ์กลุ่มพิเศษต้องระวัง
- คุณแม่ที่ทานมังสวิรัติ ควรเน้นพืชผักผลไม้ที่ให้โปรตีนและสารอาหารตามที่ได้กล่าวมาให้เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานที่ทำให้เกิดภาวะเบาหวานหรือระวังน้ำหนักตัวไม่ให้เพิ่มมากเกินไป
- คุณแม่กลุ่มที่มีโรคเลือด โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ควรอยู่ในความดูแลของสูติ – นรีแพทย์และอายุรแพทย์อย่างใกล้ชิด
คุณแม่ตั้งครรภ์กับน้ำหนักตัวที่ต้องใส่ใจ
น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ของมารดาสะท้อนถึงพัฒนาการของทารกในครรภ์ด้วยเช่นกัน เพราะน้ำหนักแรกเกิดของทารกเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญต่อสุขภาพและการเจริญเติบโตของทารก
มีรายงานจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า ทารกที่น้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์มาก ๆ มักพบปัญหาการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด มีโรคต่อมไร้ท่อและระบบเผาผลาญพลังงานไม่ปกติ เมื่อทารกเหล่านี้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่
มีรายงานยืนยันพบความสัมพันธ์ของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะเบาหวานแฝงในคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าปกติ
นอกจากนี้น้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ของมารดาก็มีผลต่อการตั้งครรภ์ จึงควรเพิ่มน้ำหนักให้เหมาะสมดังนี้
- คุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวปกติ ควรเพิ่มน้ำหนักไม่น้อยกว่า 8 กิโลกรัม แต่ไม่มากกว่า 12 กิโลกรัม
- คุณแม่ที่ผอมเกินไป มี BMI น้อยกว่า 19.8 ต้องเพิ่มน้ำหนักให้มากกว่าปกติระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้ทารกได้สารอาหารเพียงพอ
- คุณแม่ที่มีภาวะอ้วน ควรควบคุมไม่ให้น้ำหนักเพิ่มมากเกินไป แต่ก็ยังจำเป็นต้องเพิ่มให้ได้ไม่ต่ำกว่า 6 – 7 กิโลกรัม
ในช่วงเวลาของการตั้งครรภ์คุณแม่ต้องดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง โดยเฉพาะในเรื่องของโภชนาการคือสิ่งสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยและควรพบสูติ – นรีแพทย์ตามนัดและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ข้อมูล : นพ.พูลศักดิ์ ไวความดี
แพทย์เฉพาะทางสาขาสูติ – นรีเวชวิทยา ผู้ชำนาญการด้านภาวะมีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ
สอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์สุขภาพสตรี
โรงพยาบาลกรุงเทพ
โทร. 0 2310 3005, 0 2755 1005 หรือ โทร. 1719
ขอขอบคุณข้อมูล:bangkokhospital.com