การเรียนรู้ถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุรวมถึงวิธีป้องกันและดูแล จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อีกยาวนานด้วยสุขภาพที่ดีและมีชีวิตชีวา
เมื่อวัยเพิ่มขึ้น การทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะย่อมเสื่อมถอยลงไป ปัญหาสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แต่สามารถทำความเข้าใจ ป้องกัน และดูแลได้
“ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือ กลุ่มโรคสามัญทั่วไปที่เป็นได้แม้ยังไม่เข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไต ซึ่งเกิดได้กับคนทุกวัย แต่พออายุมากขึ้น ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มอาการที่เกิดเฉพาะกับผู้สูงอายุ คือเกิดจากความชราภาพของร่างกายหรือจากผลข้างเคียงจากโรคที่มารุมเร้าทำให้การดูแลตนเองถดถอยลง” พญ.ลิลลี่ ชัยสมพงษ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์ อธิบาย
สำหรับกลุ่มอาการที่เป็นปัญหาเฉพาะหรือพบบ่อยในผู้สูงอายุนั้น ได้แก่
1. อาการสับสนและสูญเสียความทรงจำ
อาการหลงลืมหรือคิดช้าลงเป็นอาการที่พบได้เมื่ออายุมากขึ้น หากมีปัญหาสุขภาพที่เฉียบพลัน เช่น การอักเสบติดเชื้อ หัวใจหรือสมองขาดเลือด ก็อาจเกิดอาการเพ้อ งุนงง สับสนได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อแก้ไขที่สาเหตุของการเจ็บป่วย อาการเหล่านี้ก็จะดีขึ้นได้
สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่คนในครอบครัวควรสังเกตก็คือ หากพบว่าผู้สูงอายุเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ พฤติกรรมและความทรงจำอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน นั่นอาจเป็นสัญญาณถึงอาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมได้ โดยสัญญาณเตือนว่าผู้สูงอายุอาจมีอาการสมองเสื่อม เช่น เรียนรู้หรือจดจำสิ่งใหม่ๆ ลำบาก พูดซ้ำถามซ้ำ เริ่มบกพร่องในการทำสิ่งที่ซับซ้อน หลงหรือลืมทิศทางในที่ที่ควรคุ้นเคย ไม่อยากเข้าสังคมหรือพูดน้อยลง อารมณ์หรือนิสัยเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
ทั้งนี้ภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ซึ่งเกิดจากการฝ่อของเนื้อสมอง แต่สมองเสื่อมสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้ เช่น เส้นเลือดสมองตีบ โรคพาร์กินสัน โรคต่อมไทรอยด์ การขาดวิตามินบี 12 เป็นต้น
การป้องกันและการดูแล
ถ้าคนในครอบครัวสังเกตเห็นว่าผู้สูงอายุเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด ความจำ จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการและรับการรักษา แม้ว่าภาวะความจำเสื่อมจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็มีวิธีที่จะช่วยชะลอการดำเนินไปของโรคได้ อาทิ การทำกิจกรรมต่างๆ ที่กระตุ้นสมอง เช่น ทำงานหรือทำงานบ้านเท่าที่ทำได้ เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมกับครอบครัวและเพื่อนๆ อ่านหนังสือ เล่นเกม ออกกำลังกาย เป็นต้น
2.ภาวะกระดูกพรุน
เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเพราะแทบไม่มีอาการเลย กว่าจะทราบก็เมื่อหกล้มกระดูกหักแล้ว ภาวะกระดูกพรุนคือการที่เนื้อกระดูกบางลง ทำให้เปราะหักหรือยุบง่าย ส่วนใหญ่พบได้ในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนและผู้ชายอายุมากกว่า 70 ปี
การป้องกันและการดูแล
- ผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปีและผู้ชายอายุมากกว่า 70 ปี ควรได้รับการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก (bone mineral density หรือ BMD) ซึ่งจะบ่งบอกถึงความหนาบางของมวลกระดูกเมื่อเทียบกับค่ามวลกระดูกที่ปกติในผู้ใหญ่ทั่วไป
- ควรตรวจระดับวิตามินดีในเลือดร่วมด้วย เนื่องจากวิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียมที่รับประทาน หากพบว่ามีระดับที่ต่ำ ควรรับประทานวิตามินดีเสริม
- ควรได้รับแคลเซียมจากอาหารหรือยาอย่างน้อย 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
- ออกกำลังกายประเภทลงน้ำหนัก เช่น เดิน วิ่ง ยกน้ำหนักเบาๆ
- หากได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะกระดูกพรุน ควรรับการรักษาเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกแตกหรือหัก
3. ปัญหาการทรงตัวและการหกล้ม
ปัญหาการทรงตัวหรือหกล้มในผู้สูงอายุอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ข้อเสื่อม กล้ามเนื้อลีบและอ่อนแรง โรคทางสมอง ความดันโลหิตตกเมื่อลุกขึ้นยืนจากท่านั่งหรือนอน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาต่างๆ ที่มีผลต่อความดันโลหิตหรือทำให้ง่วง สภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ พื้นที่ลาดเอียงหรือลื่นเปียก เป็นต้น
ปัญหาการทรงตัวและการหกล้มเป็นปัญหาที่สำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากมีกระดูกบางพรุนอยู่แล้ว เมื่อหกล้มก็อาจทำให้กระดูกหักได้ง่ายและอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนที่ตามมาจากการผ่าตัดและนอนโรงพยาบาลนาน
การป้องกันและการดูแล
- หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ง่วงซึมหรือความดันโลหิตตก
- ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการทรงตัว
- ปรับสิ่งแวดล้อม เช่น เพิ่มไฟสว่าง พื้นกันลื่น มีราวจับ
- ตรวจมวลกระดูกเพื่อประเมินหาโรคกระดูกพรุนและรับการรักษาตามความเหมาะสม
4. อาการนอนไม่หลับ
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาคุณภาพการนอนที่ลดน้อยลง อาจหลับยากขึ้น ตื่นบ่อย หลับไม่ลึก และตื่นมาไม่สดชื่น โดยมีสาเหตุจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงตามวัย รวมถึงอาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความวิตกกังวล อาการปวดต่างๆ กรดไหลย้อน ปัญหาการหายใจหรือโรคนอนกรน ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ผลข้างเคียงจากยา
ทั้งนี้อาการนอนไม่หลับมักส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการลื่นหกล้ม อารมณ์หงุดหงิดหรือภูมิคุ้มกันลดลงจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมในผู้สูงอายุ
การป้องกันและการดูแล
- จัดห้องนอนให้มีบรรยากาศที่ช่วยให้หลับสบาย เช่น เงียบสงบ ใช้ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอนและผ้าห่มที่มีสีไม่ฉูดฉาด ปรับอุณหภูมิในห้องให้เหมาะสม ไม่หนาวหรือร้อนเกินไป
- พยายามนอนให้เป็นเวลาและสถานที่เดิมทุกวันเพื่อให้เกิดความเคยชิน
- ไม่ควรเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำมากนัก เวลาที่เหมาะสมคือ 3-4 ทุ่ม และตื่นตี 4-5
- พยายามดื่มน้ำช่วงเช้าและกลางวัน และดื่มให้น้อยลงหลังอาหารเย็น เพื่อลดการปัสสาวะตอนกลางคืน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลังเวลาบ่าย 2 โมง
- ไม่ควรนอนกลางวันเป็นเวลานานๆ อาจหากิจกรรมเบาๆ ทำ หรือพูดคุยเล่น หากเพลียหรือง่วงจริงๆ อาจงีบได้บ้าง แต่ไม่ควรงีบหลังบ่าย 3 โมง เพราะจะทำให้กลางคืนหลับยาก
- ปรึกษาแพทย์เพื่อทบทวนยาที่อาจทำให้นอนไม่หลับและรักษาต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ
- หากต้องใช้ยานอนหลับ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากการใช้ยาอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ติดได้
5. ปัญหาการกลั้นการขับถ่ายไม่อยู่
ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาในเรื่องของการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนหรืออ่อนล้า กระเพาะปัสสาวะอ่อนไหวเกินไป ความบกพร่องในการควบคุมการกลั้นการขับถ่ายที่เกิดจากสมองหรือเส้นประสาท การรับประทานยาบางชนิด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ภาวะท้องผูก ต่อมลูกหมากโต และโรคเบาหวาน
การป้องกันและการดูแล
- ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ออกกำลังกายและขยับเขยื้อนให้กล้ามเนื้อร่างกายแข็งแรงขึ้น
- ฝึกการขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานวันละ 50-100 ครั้ง
- ฝึกการกลั้นปัสสาวะโดยปัสสาวะเป็นเวลาและค่อยๆ ยืดเวลาระหว่างการปัสสาวะ เพื่อฝึกกระเพาะปัสสาวะให้สามารถกลั้นได้มากขึ้น
6. อาการมึนงง เวียนศีรษะ
อาการมึนงงและเวียนศีรษะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การหกล้มตามมาได้ อาการนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความดันโลหิตต่ำ ผลข้างเคียงจากยา (เช่น ยาแก้ปวดบางชนิดยาคลายเครียด ยากันชัก) ภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โลหิตจาง ความวิตกกังวล เป็นต้น
การป้องกันและการดูแล
- พยายามตรวจหาและแก้ไขสาเหตุ
- ระมัดระวังการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการลุกจากท่านั่งหรือนอน
- ใช้อุปกรณ์การทรงตัวต่างๆ เช่น ไม้เท้า ราวจับ เป็นต้น
7. ปัญหาภาวะทุพโภชนาการและความผิดปกติในการรับประทานอาหาร
เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาสุขภาพฟัน ภาวะกลืนลำบาก ความอยากอาหารน้อยลง น้ำหนักลด ผลข้างเคียงจากยาทำให้เบื่ออาหาร ภาวะซึมเศร้าหรือหลงลืมทำให้ไม่ดูแลโภชนาการตนเอง โรคเรื้อรังต่างๆ ที่ส่งผลต่อความอยากอาหาร เป็นต้น สาเหตุเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารและพลังงานไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา เช่น การติดเชื้อ ภาวะกระดูกพรุน กล้ามเนื้อลีบลง และแขนขาอ่อนแรง
การป้องกันและการดูแล
- ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แก้ไขได้
- ตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ
- จัดมื้ออาหารให้รับประทานร่วมกับผู้อื่น เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง
- จัดเตรียมอาหารที่คำเล็ก ย่อยง่าย และมีความหลากหลาย
- ปรึกษาแพทย์เพื่อทบทวนยาที่อาจทำให้เบื่ออาหารได้
- ปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารเสริมทางการแพทย์ประเภทชงหรือพร้อมดื่มเพื่อเพิ่มพลังงาน
8. ปัญหาการได้ยิน
ผู้สูงอายุจะมีความสามารถในการรับเสียงที่แย่ลง มักมีอาการหูอื้อหรือหูตึง โดยมีอาการเริ่มแรกคือ ไม่ค่อยได้ยินเสียงแหลมๆ หรือเสียงที่มีความถี่สูง เช่น เสียงผู้หญิง เสียงดนตรีคีย์สูงๆ หรือเมื่ออยู่ในสถานที่ซึ่งมีเสียงรบกวนก็อาจฟังไม่เข้าใจทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตในการสื่อสารกับผู้อื่นน้อยลงโดยไม่รู้ตัว
การป้องกันและการดูแล
- ในกรณีที่มีปัญหาการได้ยินมาก ไม่ค่อยได้ยินเสียง (โดยเฉพาะเป็นทั้ง 2 ข้าง) และรบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมาก คือ ไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินด้วยการใช้เครื่องช่วยฟัง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
- ลูกหลานควรปฏิบัติต่อผู้สูงอายุด้วยความเข้าใจ ด้วยการพูดคุยใกล้ๆ พูดช้าๆ ใช้เสียงทุ้มที่ดังกว่าธรรมดาและมีการสบตา เลือกยืนหรือนั่งพูดคุยในตำแหน่งที่ผู้สูงอายุสามารถเห็นปากผู้สนทนาได้อย่างชัดเจน เลือกสนทนาในสถานที่ที่ไม่มีเสียงรบกวน
9.ปัญหาการมองเห็น
นอกเหนือจากวัยที่เพิ่มขึ้นแล้ว โรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการมองเห็นที่ลดลง และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้
การป้องกันและการดูแล
ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง การตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกเหนือจากปัญหาสุขภาพกายเหล่านี้แล้ว สุขภาพจิตก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งพญ.ลิลลี่แนะนำว่า “ผู้สูงอายุควรดูแลสภาพจิตใจตัวเองให้เบิกบาน ไม่เครียด ขณะเดียวกันสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลก็มีส่วนอย่างมากต่อการดำรงชีวิตที่มีความสุขของผู้สูงอายุ เพราะการดูแลเอาใจใส่ผู้ใหญ่ในบ้านด้วยความรัก ปฏิบัติต่อท่านอย่างนุ่มนวลอ่อนโยนคือหัวใจของการดูแลผู้สูงอายุอย่างแท้จริง”
ขอขอบคุณข้อมูล:bumrungrad.com