รู้ทัน-โรคไทรอยด์เป็นพิษ

ความหมาย ไทรอยด์เป็นพิษ

Views

ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism, Overactive Thyroid) คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากเกินไป ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานมากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ เหงื่อออกง่าย และหงุดหงิด ฉุนเฉียว เป็นต้น

ไทรอยด์เป็นพิษ

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่อยู่ส่วนหน้าของบริเวณลำคอใต้ลูกกระเดือก และติดกับหลอดลม มีลักษณะคล้ายผีเสื้อ ลักษณะทางกายภาพของต่อมแบ่งเป็นทั้งหมด 2 ซีก คือ ซีกซ้ายและซีกขวา ซึ่งต่อมทั้ง 2 ซีกจะเชื่อมกันด้วยเนื้อเยื่ออิสมัส (Isthmus) โดยต่อมไทรอยด์จะทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนไทโรซีน (Thyroxine – T4) และฮอร์โมนไทรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine – T3) ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการเผาผลาญของร่างกายและฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในระบบไหลเวียนของเลือด ซึ่งถ้าหากเกิดความผิดปกติจนทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ฮอร์โมนไทโรซีน และฮอร์โมนไทรไอโอโดไทโรนีน ก็จะถูกผลิตออกมามากจนกลายเป็นพิษ

อาการของไทรอยด์เป็นพิษ

อาการไทรอยด์เป็นพิษค่อนข้างคลุมเครือและคล้ายกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ทั้งนี้ถ้าหากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่รุนแรงมากนัก ก็อาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาการมักไม่ค่อยแสดงออกอย่างชัดเจนมากนัก อย่างไรก็ตามอาการต่อมไทยรอยด์เป็นพิษก็ถือเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

อาการที่พบได้มากที่สุดในคนที่มีอาการไทรอยด์เป็นพิษก็คือ อาการคอพอก ซึ่งเป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกหรือเห็นก้อนขนาดใหญ่ที่บริเวณคอ ซึ่งบางครั้งแพทย์ก็อาจสามารถตรวจพบอาการคอพอกได้ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากโรคไทรอยด์เป็นพิษได้ เช่น

  • อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ
  • คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว
  • นอนหลับยาก
  • มีปัญหาสายตา เช่น ตาโปน เห็นภาพซ้อน เป็นต้น
  • สุขภาพผมเปลี่ยนไป ผมเปราะบางขาดง่าย และมีอาการผมร่วง
  • ผู้หญิงมีรอบเดือนผิดปกติ ประจำเดือนมีสีจางและมาไม่สม่ำเสมอ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะบริเวณต้นขาและต้นแขน
  • เล็บยาวเร็วผิดปกติ
  • หัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้ง/นาที โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
  • มือสั่นตลอดเวลา
  • มีอาการคัน
  • เหงื่อออกมาก
  • ผิวหนังบาง
  • น้ำหนักลด แต่มีความอยากอาหารมากขึ้น
  • อาจพบเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นในเพศชาย

ทั้งนี้หากเริ่มมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณสำคัญของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือเกิดจากเนื้องงอกที่บริเวณต่อมหมวกไตได้ หากปล่อยไว้จะยิ่งรักษาได้ยากมากขึ้น

สาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษ

สาเหตุของโรคไทรอยด์เป็นพิษ เกิดขึ้นจากการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ จนทำให้ร่างกายมีปริมาณของฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าความต้องการของร่างกาย และมีสภาวะเป็นพิษ จนส่งผลต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ โดยไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่

  • โรคเกรฟวส์ (Graves’ Disease) จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนไทโรซีนออกมามากผิดปกติจนกลายเป็นพิษ ซึ่งยังคงไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าโรคเกรฟวส์นั้นเกิดจากอะไร พบเพียงแต่ว่าโรคดังกล่าวมักเกิดขึ้นในผู้หญิงในวัยรุ่นและวัยกลางคน อีกทั้งยังเป็นได้ว่าเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยการสูบบุหรี่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคเกรฟวส์มากขึ้น
  • การรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนมากเกินไปก็สามารถก่อให้เกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ เนื่องจากไอโอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์
  • เนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ เป็นกรณีที่พบได้น้อย เนื้องอกที่เกิดบริเวณไทรอยด์ และเนื้องอกที่เกิดบริเวณต่อมใต้สมอง อาจส่งผลให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้นจนกลายเป็นพิษได้
  • การอักเสบของต่อมไทรอยด์ (Thyroiditis) การอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุของต่อมไทรอยด์สามารถส่งผลต่อการทำงานของของต่อมไทรอยด์ได้ โดยการอักเสบของต่อมไทรอยด์จะทำให้ฮอรโมนไทรอยด์ถูกผลิตออกมามากขึ้น และทำให้ฮอร์โมนรั่วไหลออกไปที่กระแสเลือด ทั้งนี้การอักเสบของต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ ยกเว้นอาการไทรอยด์อักเสบแบบกึ่งเฉียบพลันที่เกิดขึ้นได้น้อย สามารถส่งผลให้เกิดอาการเจ็บได้
  • การได้รับการเสริมฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากเกินไป ยาที่มีส่วนประกอบของไอโอดีนบางชนิด เช่น ยาอะไมโอดาโรน (Amiodarone) ที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะทำให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้นจนกลายเป็นพิษ

การวินิจฉัยโรคไทรอยด์เป็นพิษ

การวินิจฉัยด้วยตัวเอง วิธีวินิจฉัยโรคไทรอยด์เป็นพิษด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ก็คือการสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น น้ำหนักลดผิดปกติ มือสั่น เหนื่อยง่าย หายใจสั้น หรือมีอาการบวมที่บริเวณคอ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจให้แน่ชัด

การวินิจฉัยโดยแพทย์ การวินิจฉัยอาการโดยแพทย์สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งในขั้นแรกแพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพหรือประวัติการรักษา รวมถึงการตรวจร่างกายภายนอกเพื่อหาสัญญาณของโรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งสัญญาณของโรคไทรอยด์เป็นพิษ ได้แก่

  • น้ำหนักลด
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • ความดันโลหิตสูง
  • ตาโปน
  • ต่อมไทรอยด์โต

หากมีอาการเหล่านี้ แพทย์อาจทำการสั่งตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจ 2 วิธีคือ การตรวจเลือด และการเอกซเรย์

การตรวจเลือด – การตรวจเลือดจะเน้นไปที่การตรวจเพื่อเช็กการทำงานของต่อมไทรอยด์ และการเผาผลาญ เช่น

  • ตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ ปริมาณของฮอร์โมนไทรอยด์ T3 และ T4 ในเลือดเป็นสิ่งระบุชัดเจนได้ถึงการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่าผิดปกติหรือไม่ หากกว่าไม่ปกติก็แปลว่ามีอาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ
  • ตรวจวัดการทำงานของต่อมใต้สมอง (Thyroid-Stimulating Hormone: TSH) เป็นการตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนต่อมใต้สมองซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์
  • การตรวจวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ (Thyroidglobulin) ซึ่งจะช่วยวินิจฉัยโรคเกรฟวส์ได้

การเอกซเรย์ – จะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นการทำงานและความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ได้ชัดขึ้น โดยใช้วิธีดังนี้

  • การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจที่จะช่วยวัดขนาดของต่อมไทรอยด์และความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติได้
  • การตรวจต่อมไทรอยด์ (Thyroid Scan) เป็นการตรวจโดยใช้รังสีเพื่อให้เห็นการทำงานของต่อมไทรอยด์ ซึ่งจะช่วยให้เห็นว่าต่อมไทรอยด์มีการทำงานที่มากกว่าปกติหรือไม่
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบซีทีสแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) ใช้ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าความผิดปกติของต่อมไทรอยด์อาจมีเนื้องอกหรือมะเร็งปน และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจะใช้ในกรณีทีแพทย์สงสัยว่าโรคไทรอยด์เป็นพิษอาจเกิดจากต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ

ทั้งนี้หากเอกซเรย์แล้วพบว่ามีการพบเนื้องอก ก็จะต้องมีการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจต่อไปว่าใช่เนื้องอกจากโรคมะเร็งหรือไม่ เมื่อแพทย์ทราบสาเหตุของโรคไทรอยด์เป็นพิษแล้วจึงรักษาในขั้นต่อไป

การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ

การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น อายุ เงื่อนไขทางร่างกาย รวมถึงสาเหตุและความรุนแรงของโรค โดยวิธีที่ใช้ในการรักษามีดังนี้

  • การรับประทานยาต้านไทรอยด์ ยาเมไทมาโซล (Methimazole: MMI) และยาโพพิลไทโออูราซิล (Propylthiouracil: PTU) เป็นยาต้านไทรอยด์ที่มีการใช้ในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย โดยกลไกการทำงานของยาคือ ตัวยาจะเข้าไปขัดขวางการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ไม่ให้สร้างฮอร์โมนมากจนเกินไปภายใน 2-8 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้จัดปริมาณการใช้ยาให้ทุก ๆ 4 สัปดาห์ โดยพิจารณาจากผลการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งการรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายของผู้ป่วย ทั้งนี้ผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่พบได้ก็คือ อาการแพ้ยาที่อาจทำให้เกิดผื่น มีไข้ และปวดตามข้อ แต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงอย่างภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Agranulocytosis) แต่พบได้น้อย ทำให้ในการใช้ยานี้แพทย์อาจต้องมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับเม็ดเลือดขาวควบคู่ไปกับการรักษาในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะนี้ด้วย
  • การรักษาด้วยรังสีไอโอดีน (Radioactive Iodineเป็นการรักษาด้วยการรับประทานสารรังสีไอโอดีน ซึ่งเป็นสารที่มีความปลอดภัย โดยสารชนิดนี้จะถูกดูดซึมโดยต่อมไทรอยด์ และทำลายเนื้อต่อม ทำให้ต่อมไทรอยด์ค่อย ๆ หดตัวลงและอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 3-6 เดือน แต่ก็มีผลข้างเคียงคือจะทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานได้น้อยลงจนเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาเสริมฮอร์โมนไทรอยด์ร่วมด้วย การรักษาด้วยรังสีนี้จะใช้กับผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy) ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือไม่สามารถใช้ยาในการรักษาหรือรักษาด้วยรังสีไอโอดีนได้ การผ่าตัดก็จะช่วยรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษได้ แต่เกิดในกรณีที่น้อยมาก โดยในการผ่าตัด แพทย์จะนำต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่ออกเพื่อรักษาอาการ แต่ความเสี่ยงในการผ่าตัดก็คืออาจทำลายเส้นเสียงและต่อมพาราไทรอยด์ได้ และหลังจากทำการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาเพื่อรักษาระดับฮอร์โมนไปตลอดชีวิต อีกทั้งหากในการผ่าตัดมีการนำเอาต่อมพาราไทรอยด์ออกไปด้วย ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาเพื่อควบคุมระดับแคลเซียมด้วย
  • การใช้ยาต้านเบต้า (Beta Blockers) ยาต้านเบต้าจะช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง บรรเทาอาการใจสั่น และอาการวิตกกลังวล และมักใช้กับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ทว่ายาดังกล่าวก็มีผลข้างเคียง เช่น ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดหัว ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องผูก ท้องเสีย หรือวิงเวียนศีรษะ
  • การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โรคไทรอยด์สามารถก่อเกิดภาวะขาดน้ำได้ การดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะช่วยลดภาวะขนาดน้ำและทำให้อาการดีขึ้น

นอกจากนี้ ในระหว่างการรักษาโรคไทรอยด์ ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยเน้นอาหารที่มีแคลเซียมและโซเดียมให้มากขึ้น แต่ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ไทรอยด์เป็นพิษยังทำให้กระดูกบางลง ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารเสริมที่มีแคลเซียมและวิตามินดีควบคู่กันไปด้วยทั้งในระหว่างการรักษาหรือหลังจากหายแล้ว เพื่อบำรุงกระดูกให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำปริมาณของอาหารเสริม และช่วยวางแผนในการรับประทานอาหารรวมทั้งการออกกำลังกายแก่ผู้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไทรอยด์เป็นพิษ

โดยส่วนใหญ่แล้ว หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะน้อย แต่ถ้าหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็อาจพบกับภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ เช่น

  • ปัญหาสายตา พบได้ในผู้ป่วยโรคเกรฟวส์เท่านั้น ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โดยปัญหาสายตาที่เป็นภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ตาแห้ง ตาไวต่อแสง ตาแฉะ เห็นภาพซ้อน ตาแดง หรือบวม ตาโปนออกมามากว่าปกติ และบริเวณเปลือกตาแดง บวม เปลือกตาปลิ้นออกมาผิดปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วอาการทางสายตาจะดีขึ้นเมื่อโรคไทรอยด์เป็นพิษได้รับการรักษา แต่ก็มีบางส่วนที่ต้องสูญเสียการมองเห็น ดังนั้นในการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยอาจต้องพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาควบคู่กันไปด้วย
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจ ภาวะแทรกซ้อนที่มักเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษก็คือ ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น หัวใจเต้นเร็ว หรือโรคหัวใจเต้นผิดปกติที่เกิดจากการสั่นที่หัวใจห้องบน (Atrial Fibrillation) หรือแม้แต่ภาวะหัวใจวาย ซึ่งเกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ แต่ภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้จะบรรเทาลงหากรักษาได้อย่างถูกต้อง
  • ภาวะไทรอยด์ต่ำ หลายครั้งการรักษาไทรอยด์เป็นพิษก็อาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติจนเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น รู้สึกหนาวและเหนื่อยง่าย น้ำหนักขึ้นผิดปกติ มีอาการท้องผูก และมีอาการซึมเศร้า ทว่าอาการจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และมีผู้ป่วยเพียงบางรายเท่านั้นที่เกิดอาการโดยถาวรและต้องใช้ยาในการควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต
  • กระดูกเปราะบาง โรคไทรอยด์เป็นพิษ หากไม่ได้รับการรักษาสามารถส่งผลเสียต่อมวลกระดูก ทำให้กระดูกอ่อนแอ หรือกลายเป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์มากไปจะส่งผลต่อความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมของกระดูกได้
  • ไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤต หากมีการควบคุมระดับไทรอยด์ที่ไม่ดี อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น หรือเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งสัญญาณที่บอกว่าไทรอยด์เป็นพิษเข้าขั้นวิกฤตคือ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส ท้องเสีย อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง มีอาการสับสนมึนงงอย่างรุนแรง และอาจถึงขั้นหมดสติได้ โดยสาเหตุที่อาจทำให้อาการเข้าสู่ภาวะวิกฤต ได้แก่ การติดเชื้อ การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ การตั้งครรภ์ และความเสียหายของต่อมไทรอยด์ โดยภาวะไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้

ไม่เพียงเท่านั้น ในกลุ่มสตรีที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ โรคไทรอยด์เป็นพิษอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น

  • ครรภ์เป็นพิษ
  • อาการแท้ง
  • คลอดก่อนกำหนด
  • เด็กทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าปกติ

ดังนั้นผู้ป่วยที่มีการวางแผนว่าจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้วางแผนในการควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงแพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนวิธีการรักษาให้เหมาะสมต่อไป

วิธีป้องกันโรคไทรอยด์เป็นพิษ

ไทรอยด์เป็นความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องคอยหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยเคยป่วยด้วยโรคไทรอยด์เป็นพิษหากสิ้นสุดการรักษาแล้ว การติดตามผลในระยะยาวก็อาจเป็นสิ่งที่จำเป็น ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค เพื่อไม่ให้โรคไทรอยด์เป็นพิษกลับมาเป็นซ้ำอีก หากสูบบุหรี่ก็ควรหลีกเลี่ยงเพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ความเสี่ยงโรคไทรอยด์เป็นพิษมากขึ้น โดยในการติดตามผล แพทย์จะสั่งให้ตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ เพื่อเฝ้าระวังอาการและเตรียมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขอขอบคุณhttps://www.pobpad.com/

Leave a Reply