มะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma)
เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวภายในท่อน้ำดีเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ จนไปกดเบียดหรือลุกลามอวัยวะข้างเคียงซึ่ง ประกอบด้วยตับ ตับอ่อน หรือลำไส้เล็กส่วนต้น
ชนิดของมะเร็งท่อน้ำดี เนื่องจากท่อน้ำดีนั้นมีทั้งส่วนที่วางตัวอยู่ในตับและออกมานอกตับจึงแบ่งชนิดของมะเร็งท่อน้ำดีเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ
- มะเร็งท่อน้ำดีในตับ
- มะเร็งท่อน้ำดีนอกตับ
สาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดี
ปัจจุบันสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดียังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ของเซลล์ท่อน้ำดี จนทำให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้ เช่น นิ่วในทางเดินน้ำดี นิ่วในตับ พยาธิใบไม้ตับ การอักเสบเรื้อรังภายในท่อน้ำดี ตับอักเสบ ตับแข็งการอักเสบเรื้อรัง ของลำไส้ใหญ่ และสารเคมีบางชนิด เป็นต้น
อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในตับและนอกตับจะแตกจะมีอาการแสดงต่างกัน ในกรณีของมะเร็งท่อน้ำดีในตับนั้น โดยทั่วไปผู้ป่วยมัก จะไม่มีอาการผิดปกติ จนกระทั่งมะเร็งมีขนาดใหญ่จนกดเบียดอวัยวะข้างเคียงหรือ ทางเดินน้ำดีจนอุดตันทำให้ มีอาการปวดแน่นท้อง ตัวตาเหลือง เป็นต้น ส่วนกรณี ของมะเร็งท่อน้ำดีนอกตับจะเริ่มมีอาการจากการที่มีการอุดตันของท่อน้ำดี ทำให้มี อาการตัวตาเหลืองหรือที่เรียกว่าดีซ่าน (Jaundice) คันตามตัว อุจจาระสีซีดลงได้ ในมะเร็งท่อน้ำดีระยะต้นอาจไม่มีอาการผิดปกติมาก่อนเลย จะเห็นได้ว่าอาการของโรคในระยะเริ่มแรกนั้นมักจะน้อยและไม่จำเพาะ จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารับการรักษา มักจะเป็นมะเร็งท่อน้ำดีที่มีขนาดใหญ่หรือเริ่มมีการลุกลามแล้ว
การวินิจฉัยโรค
นอกจากอาการและอาการแสดงดังกล่าวข้างต้น การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ช่วยในการวินิจฉัยประกอบด้วย การตรวจภาพรังสีวินิจฉัย อัลตราซาวด์ (Ultrasonography) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Topography – CT) การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging – MRI) โดยการตรวจภาพวินิจฉัยแต่ละชนิดก็จะมีความแม่นยำ และจำเพาะแตกต่างกันไป โดยดุลพินิจในการส่งตรวจขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษา
โดยทั่วไปแล้วการตรวจเลือดเพื่อดูค่าการทำงานของตับ (Liver function test) หรือสารบ่งชี้มะเร็งชนิด CA19-9 (Tumor marker) ในผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะแรกนั้นมักจะไม่ พบความผิดปกติ ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัย
การรักษา
การรักษาหลักของมะเร็งท่อน้ำดี คือ การผ่าตัด กรณีของมะเร็งท่อน้ำดีในตับ การผ่าตัดจะประกอบด้วยการผ่าตัดตับ (Hepatic resection/Hepatectomy) ส่วนในกรณีของมะเร็งท่อน้ำดีนอกตับ การผ่าตัดจะประกอบด้วยการผ่าตัด ตัดท่อทางเดินน้ำดี (Bile duct resection) อาจต้องมีการผ่าตัดตับ หรืออาจต้อง ผ่าตัดตับอ่อนและลำไส้เล็กส่วนหนึ่งร่วมด้วย (Pancreaticoduodenectomy) ถ้ามะเร็งท่อน้ำดีมีการลุกลามมาที่บริเวณดังกล่าว
ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ผู้ป่วยจะมีทางเลือกในการรักษาคือการใช้คลื่นความร้อนไมโครเวฟ (Microwave ablation) หรือคลื่นวิทยุ (Radiofrequency ablation) และ HIFU จี้บริเวณก้อนมะเร็งเพื่อลดขนาด ทำให้อาการแน่นท้องและแวดท้องลดลง
หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ในระยะลุกลาม การรักษาคือการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือ ยาออกฤทธิ์มุ่งเป้า (Targeted therapy) เพื่อลดอาการจากตัวโรค ลดการลุกลาม เพื่อให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีชีวิตยืนยาวที่สุด
ผลการรักษา
ในปัจจุบันผลการรักษาของมะเร็งท่อน้ำดียังไม่สู้ดีนัก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งท่อน้ำดีมีขนาดใหญ่หรือลุกลามแล้ว ดังนั้นจึงพบว่ามี ผู้ป่วยเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่สามารถทำการผ่าตัดได้โดยถ้าสามารถผ่าตัดเอามะเร็งท่อน้ำดีออกได้หมดจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีอยู่ที่ประมาณ 10-40% แต่ถ้าพบว่ามีการลุกลามไปแล้วอัตราการรอดชีวิตจะต่ำกว่านั้นมาก
การป้องกัน
เนื่องจากไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้การป้องกันการเกิดโรคเป็นไปได้ยาก แต่เราสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีได้ โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น ปลาน้ำจืดดิบ การสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือสารเคมีที่ไม่จำเป็น
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.chularatcancercenter.com/