กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงช่วงอายุ 20 -50 ปี และยิ่งสาวๆ คนไหนที่ชอบกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ เป็นเวลานานๆ หรือดื่มน้ำน้อย ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่ายมากขึ้น มาทำความรู้จักกับโรคกระเพาะปัสสาวะ โรคยอดฮิตของสาวออฟฟิศ เพื่อที่จะสามารถป้องกันและรักษาได้อย่างถูกวิธี เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงค่ะ
สาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าท่อปัสสาวะของผู้ชาย และอยู่ใกล้กับทวารหนัก จึงมีโอกาสสูงที่เชื้อแบคทีเรียซึ่งปกติมีอยู่จำนวนมากบริเวณทวารหนักจะเคลื่อนเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ จนเกิดการฟักตัวของเชื้อ และเกิดอาการอักเสบในที่สุด
นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์ยังอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียหลุดเข้าเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้อีกด้วย
อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะ รู้เร็ว รักษาไว ก็หายได้อย่างทันใจ
หลังจากรู้จักสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแล้ว คราวนี้เราลองมาสังเกตอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบกันดูค่ะ ว่ามีอาการอย่างไรบ้าง หากพบว่าเรากำลังมีอาการเช่นนี้อยู่ อย่าลืมรีบรักษานะคะ
- ปวดปัสสาวะบ่อย กลั้นไม่ค่อยได้ ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ปัสสาวะแต่ละครั้งออกมาปริมาณน้อย
- รู้สึกแสบในท่อปัสสาวะ ปวดเสียวตอนที่ถ่ายสุด ทุกข์ทรมานทุกครั้งเวลาที่ต้องปัสสาวะ
- รู้สึกตึง ปวดถ่วง บริเวณท้องน้อย
- ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปกติ
- ปัสสาวะมีเลือดปน
วิธีการตรวจวินิจฉัย
หากคุณกำลังมีอาการผิดปกติ คาดเดาว่าอาจจะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักาาทันทีค่ะ ไม่ต้องกลัวนะคะ เพราะการตรวจวินิจฉัยทำได้ไม่ยาก ไม่เจ็บปวด รู้ผลเร็ว เพื่อที่จะได้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องทนทรมานจากอาการแสบขัดเวลาปัสสาวะ และไม่เป้นเรื้อรังจนยากแก่การรักาาค่ะ
วิธีการตรวจวินิจฉัย คุณหมอจะซักประวัติ สอบถามอาการ และไลฟสไตล์การใช้ชีวิต เช่น ชอบอั้นปัสสาวะนานๆ ไม่ยอมลุกไปเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำน้อย เป็นต้น ควบคู่ไปกับการตรวจปัสสาวะ โดยให้เราทิ้งปัสสาวะในช่วงแรกไปก่อน แล้วค่อยเก็บปัสสาวะที่ออกมาหลังจากนั้นไปตรวจดูจำนวนเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงที่ปะปนมาในปัสสาวะ หากมีปริมาณเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ หรือมีอาการเรื้อรัง อาจต้องมีการนำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ เพื่อดุชนิดของแบคทีเรียต่อไปค่ะ
การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- รับประทานยาปฏิชีวนะในปริมาณที่เหมาะสมตามที่แพทย์สั่ง เช่น ผู้ป่วยทั่วไปจะรับประทานยาปฏิชีวนะประมาณ 3-5 วัน แต่ถ้ามีอาการหนัก อาจต้องรับประทานยาเป็นเวลานานมากขึ้นประมาณ 7-10 วัน
- ผู้ที่มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆ ประมาณ 2 ครั้งในรอบ 6 เดือน อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะวันละครั้งเพื่อป้องกัน
- บางคนที่มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่าย เช่น หลังจากมีเพศสัมพันธ์ อาจจำเป้นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะหลังร่วมเพศ เพื่อป้องกันการอักเสบ
วิธีง่ายๆ ในการป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- หมั่นรักษาความสะอาดบริเวณช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และทวารหนัก
- ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อให้มีการขับปัสสาวะออกจากร่างกายในระดับที่เหมาะสม เพราะปัสสาวะจะช่วยขับแบคทีเรีย ซึ่งอาจหลุดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะแล้วกำลังอยู่ในระยะฟักตัวของเชื้อ ออกไปพร้อมปัสสาวะได้
- เมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ ควรรีบลุกไปเข้าห้องน้ำทันที ไม่ควรกลั้นปัสสาวะนานๆ เพราะจะทำให้แบคทีเรียมีเวลาฟักตัวอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานขึ้น และทำให้เกิดอาการอักเสบได้ง่ายขึ้น
- คนที่เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆ เรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุแอบแฝงอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการอักเสบได้ง่ายกว่าปกติ เช่น ความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะจากระบบประสาทควบคุม นิ่ว หรือมีการอุดตันในระบบปัสสาวะ เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลพญาไท