ในปัจจุบันจำนวนประชากรของประเทศไทย มีอัตราการเกิดที่ลดลง และผู้คนมีอายุยืนขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยทั่วไปแล้ว ผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตใจ เนื่องจากการเสื่อมสมรรถภาพตามอายุที่มากขึ้น จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านปัญหาสุขภาพร่างกาย และสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ
การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาแนะนำวิธีการดูแลผู้สูงอายุ
ทำไมการดูแลผู้สูงอายุจึงสำคัญ
วัยสูงอายุ เป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง กล้ามเนื้อ สายตาก็แย่ลง เพราะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา และนอกจากทางร่างกายแล้ว เรื่องของจิตใจก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ทำให้การออกนอกบ้าน การแต่งตัว ตื่นนอน หรือเข้าห้องน้ำลำบาก อีกทั้งสามารถหกล้มได้ง่าย ดังนั้นหากใครมีบุคคลในครอบครัวเป็นผู้สูงอายุ ควรใส่ใจและดูแลให้ถูกต้อง ตามหลักของการดูแลผู้สูงอายุ
แล้วเรามีวิธีดูแลผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง
หลัก 5 อ. ดูแลผู้สูงวัย ให้สุขภาพดี อายุยืน
1. อาหาร
รับประทานอาหารให้หลากหลาย ได้สัดส่วนเพียงพออิ่ม ครบ 5 หมู่ เน้นย่อยง่ายและสะอาด อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น อาหารที่มีไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
2. ออกกำลังกาย
ออกกำลังกายทุกส่วนสัด กระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ ผู้สูงอายุควรเคลื่อนไหวออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม มีหลากหลายวิธี เช่น ยืดเส้นยืดสาย ยืดเหยียด ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เดินเร็ว ขี่จักรยาน เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยง การแข่งขัน ออกแรงเกินกำลัง ความเร็วสูง เกร็ง เบ่ง ยกน้ำหนัก การอยู่ในสถานที่ร้อนอบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเท อยู่กลางแดดจ้า
3.อารมณ์
อารมณ์รื่นเริงยินดี ชีวีตสดใสด้วยรอยยิ้ม จิตแจ่มใส มองโลกในแง่บวก ไม่เครียด ช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่ลูกหลาน คนรอบข้าง
4. อดิเรก
สร้างสรรค์งานอดิเรก เพิ่มพูนคุณค่า เกื้อกูลสังคม หากิจกรรมงานอดิเรกที่ชอบ ทำแล้วเพลิดเพลิน และมีคุณค่าทางจิตใจ เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรม พบปะสังสรรค์ ให้คำปรึกษาแนะนำฟังเพลง ปลูกต้นไม้
5. อนามัย
สร้างอนามัยดี ชีวีมีสุข นำพาอายุยืนยาว สร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดี หมั่นตรวจและรักษาสุขภาพ ปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ ควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง ดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน งด ละ เลิกอบายมุข บุหรี่ เหล้า ของมึนเมา และสารเสพติด
นอกจากนี้แล้ว ควรระมัดระวังอุบัติเหตุไม่ให้เกิดกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการล้ม เพราะในวัยผู้สูงอายุ การทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูก การมองเห็นจะเสื่อมถอยลง อาจทำให้ผู้สูงอายุหกล้มได้ง่าย ควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านเรือนให้ปลอดภัย มีแสงสว่างเหมาะสมไม่วางของเกะกะ พื้นไม่ลื่น หรือควรมีราวจับในบริเวณที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้บ่อย ๆ เช่น ห้องน้ำ บันได เป็นต้น
ทั้งนี้นอกจากจะดูแลเรื่องสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุแล้ว การดูแลสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุก็สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี สมาชิกในครอบครัว ควรปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ อย่างใส่ใจ ดังต่อไปนี้
1. ช่วยทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า มีความสำคัญและมีความหวังในชีวิต เช่น ขอคำแนะนำ ต่าง ๆ ขอความช่วยเหลือจากผู้สูงอายุให้ควบคุมดูแลบ้านเรือน เป็นที่ปรึกษาอบรมเลี้ยงดูลูกหลาน
2. ควรระมัดระวังคำพูด หรือการกระทำที่แสดงออกต่อผู้สูงอายุ เน้นความสำคัญของผู้สูงอายุเป็นอันดับแรก เช่น เวลารับประทานอาหารเชิญชวนให้รับประทานอาหารก่อนและตักข้าวให้
3. ชวนผู้สูงอายุเล่าเรื่องเหตุการณ์ประทับใจในอดีตของท่านให้ฟัง และรับฟังอย่างตั้งใจ จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่า ยังมีคนชื่นชมในบางส่วนของชีวิตของตนอยู่
4. อำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุ ปฏิบัติกิจกรรมที่น่าสนใจต่าง ๆ เช่น เมื่อผู้สูงอายุต้องการไปวัด หรือ ศาสนสถานต่าง ๆ ควรการจัดเตรียมข้าวของต่าง ๆ ให้ และ การไปรับไปส่ง หรือไปเป็นเพื่อน
5. เอาใจใส่ดูแลเรื่องอาหาร และการออกกำลังกายหรือทำงานตามความถนัดให้เหมาะสมกับวัย
6. หากผู้สูงอายุต้องการแยกบ้านอยู่ หรือต้องการไปอยู่สถานที่ที่รัฐจัดให้ก็ควรตามใจ และพาลูกหลานไปเยี่ยมเมื่อมีโอกาส ถ้าหากผู้สูงอายุรู้สึกเป็นสุข และต้องการอยู่ร่วมกับลูกหลาน ก็ให้อยู่บ้านเดียวกัน เพื่อเกิดความรู้สึกอบอุ่น
7. ช่วยให้ผู้สูงอายุมีโอกาสพบปะสังสรรค์กับญาติสนิท และเพื่อนร่วมวัยเดียวกัน ด้วการพาไปเยี่ยม หรือเชิญเพื่อน ญาติ มาสังสรรค์ที่บ้าน เป็นการคลายเหงา หรืออาจจะพาไปสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมของผู้สูงอายุ เช่น วัด หรือชมรมผู้สูงอายุในชุมชน
8. ให้ความสำคัญเห็นคุณค่า และเคารพยกย่องนับถือ ด้วยการเชื่อฟังคำสั่งสอนและข้อแนะนำจากผู้สูงอายุ ร่วมมือกันรักษาฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมของไทย เช่น ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเนื่องในวันสงกรานต์
9. ให้อภัยในความหลงลืม และความผิดพลาดที่ผู้สูงอายุกระทำ และยิ่งกว่านั้น ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจที่เหมาะสมด้วย
10. ช่วยเหลือดูแลรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย หรือพาไปตรวจสุขภาพให้การดูแลอย่าง ใกล้ชิด เมื่อเจ็บป่วยหนัก หรือเรื้อรัง
สรุป
การที่ผู้สูงอายุจะมีสุขภาพแข็งแรงมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น ไม่เพียงแต่การเตรียมความพร้อมหรือการปฏิบัติตัวผู้สูงอายุเองเท่านั้น ลูกหลาน ครอบครัว ก็ควรใส่ใจดูแลผู้สูงอายุด้วย ดังนั้นการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่เราไม่ควรมองข้าม เพื่อให้คนรักของเราอยู่กับเราได้นานขึ้น เราเริ่มมาทำหน้าที่เป็นคนข้าง ๆ ให้กับคนที่หัวใจบอบบางกันเถอะ
เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : thaihealth.or.th, nationtv.tv และ paolohospital.com
รูปภาพจาก : เพจ เครื่องช่วยฟัง Good Price และ Freepik.com
ขอขอบคุณข้อมูล:chiangmainews.co.th