หืดหอบ

โรคหืด อาการคล้ายโควิด-19 แต่ไม่ติดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง

Views

5 พฤษภาคม 2563 “วันโรคหืดโลก” World Asthma Day แพทย์เผยอาการโรคหืด แม้จะคล้ายกับโควิด-19 แต่ยังไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เปิดตัวเลขสถิติโรคหืดคร่าชีวิตคนไทยปีละเกือบ 7,000 คน ผุดแคมเปญ #AdayinAlifeChallenge

วันโรคหืดโลก หรือ World Asthma Day มีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541 โดยองค์การอนามัยโลกและองค์การหืดโลก Global Initiative for Asthma ซึ่งมีขึ้นในวันอังคารแรกของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 5 พ.ค. 2563 โดยแนวคิด enough asthma death เพื่อลดการเสียชีวิตจากโรคหืด เพื่อกระตุ้นให้บุคคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และครอบครัว ได้ตระหนักถึงความสำคัญ สร้างความตื่นตัว ทราบอาการของโรค การรักษา ป้องกัน เพื่อลดการผลกระทบและการเสียชีวิตจากโรคหืด

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบคนไทยเสียชีวิตจากโรคหืดถึง 6,808 ราย โดยคิดเป็น 7.76 รายต่อประชากร 1 แสนคน หรือ 1.3% ของคนที่เสียชีวิตทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียชีวิตจากโรคนี้ในระดับโลกแล้วพบว่า ประเทศไทยจัดเป็นอันดับที่ 76 ของโลก โดยเป็นอันดับที่ 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคอื่นๆ พบว่าโรคหืดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในคนไทยเป็นอันดับที่ 19 โดยอันดับที่ 1-3 คือ หลอดเลือดหัวใจ ไข้หวัดใหญ่/ปอดบวม และโรคหลอดเลือดสมอง ตามลำดับ

วิธีสังเกตตัวเองว่าเป็นโรคหืดหรือไม่ 

ท่านเคยมีอาการเหนื่อย หายใจเสียงดังหวีด แน่นหน้าอก ไอเป็นๆ หายๆ ในช่วงเช้า/กลางคืน หรือเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่นควัน อากาศเย็น ขนแมวหรือขนสุนัข การออกกำลังกาย หรือไม่ ?ท่านเคยนอนไม่หลับหรือต้องตื่นขึ้นมาเนื่องจากไอ, หายใจติดขัด, แน่นหน้าอก ที่ไม่ได้เกิดจากไข้หวัดหรือไม่ ?ท่านเคยมีอาการหอบหืดหรือไม่ ? (หายใจหอบ, หายใจเสียงดังวี๊ดๆ, หายใจไม่ทัน, หายใจไม่เต็มอิ่ม, ไอเป็นชุดๆ)ท่านเคยใช้ยาเพื่อระงับอาการหอบหืดหรือไม่ ?  

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตในไทยปีละ 7,000 คน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะว่าโรคนี้สามารถรักษาได้ หายได้ ถ้ารักษาเร็ว มีโอกาสหายได้สูง จากเดิมผู้ป่วยมักจะเข้าใจว่าเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ทำให้ขาดการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการรักษาอาการ คนไข้จะต้องมียาต้องติดตัว 2 ประเภทคือยาควบคุม ถ้าใช้ในระยะยาวสามารถรักษาอาการของโรคให้หายได้ และยาฉุกเฉินที่เป็นยาขยายหลอดลมตลอดถึงแม้จะไม่มีอาการ เพราะอาจเกิดอาการหอบกำเริบเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งคนไข้ที่เสียชีวิตเพราะไม่ได้พกยาฉุกเฉิน ทำให้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ หรืออีกกรณีคือยาหมดอายุ (ทั่วไปมีอายุเฉลี่ย 2 ปี) เป็นหนึ่งในต้นเหตุของการเสียชีวิตจากโรคนี้

อีกความเสี่ยงของการเสียชีวิตคือปัจจัยด้านอายุ โดยทั่วไปอัตราการเสียชีวิตในผู้ใหญ่จะมากกว่าเด็กประมาณ 5 เท่า ขณะที่ยิ่งรักษาไวยิ่งหายได้ไวโดยเฉพาะในเด็ก มีโอกาสหายเกิน 50% แต่กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือคนไข้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เพราะการพ่นยาทำได้ยากกว่า อาการรุนแรงกว่าและหลายคนชินกับอาการหอบโดยที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคหืด 

ภาวะอาการหอบ หลายคนจะเข้าใจว่าต้องเริ่มต้นด้วยการหอบ ซึ่งจริงๆแล้วอาการหอบ มักจะเริ่มต้นด้วย “การไอช่วงเวลากลางคืน” ดังนั้นเพื่อให้คนไข้โรคหืด ควรดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้องโดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล จึงได้จัดทำ แอพพลิเคชั่น “Asthma Care” เพื่อให้คนไข้สามารถสังเกตุอาการและดูแลตัวเองได้แม้ในยามฉุกเฉิน โดยมีแผนปฏิบัติการ “Asthma Action Plan” ซึ่งจะระบุวิธีสังเกตอาการ วิธีการพ่นยาด้วยตนเอง เบอร์โทรฉุกเฉิน ข้อแนะนำ ตั้งเวลาเตือน พร้อมวิดีโอประกอบ แบ่งเป็นระดับสีเขียวคือปกติ สีเหลืองคือเริ่มมีอาการแต่สามารถรักษาด้วยตัวเองได้ และสีแดงคือฉุกเฉิน รักษาด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องมาโรงพยาบาล (ต้องพ่นยาระหว่างพามาโรงพยาบาล) พร้อมมีปุ่มโทรฉุกเฉินส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน 

นอกจากหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหอบได้ง่าย เช่น บุหรี่ ไรฝุ่น ฝุ่นละออง มลพิษ ความเครียด ปัจจุบันได้ประยุกต์ใช้ทฤษฎี 4Es ที่คิดค้นขึ้นมาโดยให้คนไข้หันมาใส่ใจดูแลตนเอง ได้แก่

  1. Exercise ต้องออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
  2. Eating รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  3. Environment สิ่งแวดล้อม คนไข้โรคหืดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ
  4. Emotion อารมณ์ความรู้สึก ในภาวะที่คนไข้เครียด ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน จะทำให้โรคกำเริบขึ้นมาได้

ผลจากการนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยปรากฏว่าสามารถควบคุมอาการของโรคหืดได้จริง ลดความสูญเสียที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยอาการของคนไข้โรคหืดอาการคล้ายกับโควิด-19 แต่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ในกรณีคนไข้โรคหืดมักมีอาการไออย่างเดียว มีน้ำมูกบ้างแต่ไม่มีไข้ ขณะที่โรคโควิด-19 มีไข้ถึง 60% เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว และอาการบ่งชี้ที่สำคัญ คือไม่ได้กลิ่นและไม่สัมผัสรส  ตรวจสอบได้โดยให้คนไข้พ่นยาฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องหายจากอาการที่เกิดจากโรคหืด หากไม่หายและมีอาการข้างต้น มีข้อแนะนำให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19

ข้อแนะนำการปฏิบัติ 5 ประการในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 อ้างอิงตามองค์การหืดโลก ดังนี้

  1. ห้ามหยุดยา-ลดยา และต้องพ่นยาอย่างสม่ำเสมอ เพราะเสียงหอบกำเริบ (ลดการมาโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด)
  2. หลีกเลี่ยงยาพ่นประเภทฝอยละออง หรือ Nebulization เนื่องจากมีโอกาสที่ผู้ป่วยโรคหืดที่ติดเชื้อโควิด-19 จะแพร่กระจายเชื้อได้  และแนะนำให้ใช้ยาพ่น MDI with spacers (อุปกรณ์พ่น) ทำให้ได้ริเริ่มโครงการ “หยุดหอบ ป้องกัน Covid-19 ด้วย Thai Kit Spacer” โดยแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ 500 ถึง 600 แห่ง และยังร่วมมือกับสถาบันพลาสติกฯ ทำนวัตกรรม Spacers พ่นยาขณะใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤติที่ต้องพ่นยารักษาโรคหืดควบคู่ด้วย หรือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์สามารถทำ DIY Spacers ใช้เองด้วยงบประมาณ 30-40 บาท ดูได้ทางเพจ Asthma Talks by Dr.Ann
  3. คนไข้ต้องเข้าใจและมีแผนปฎิบัติการดูแลในยามฉุกเฉิน (Asthma Action Plan) เพื่อรู้วิธีการปฏิบัติตัวและสังเกตอาการ โดยปกติสูตรการพ่นยาฉุกเฉิน ทุก 15 นาที x 3 ครั้ง ถ้าดีขึ้นพ่นห่าง 6 – 8 ชั่วโมงจนดีขึ้นไป 2-3 วัน ซึ่งคนไข้หลายคนจำผิด หรือจำไม่ได้ว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ต้องมีการใช้ Asthma Action Plan (ใน Application : Asthma Care) ดูแลและสังเกตอาการที่บ้าน ลดความเสี่ยงมาโรงพยาบาล คนไข้โรคหืดมาแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการหอบทุกๆวัน ซึ่งหมายถึงการรักษาตัวเองไม่ดีนั่นเอง
  4. หลีกเลี่ยงการทำหัตถการเป่าปอด ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ถึงแม้ว่าจะพบคนไข้โรคเกิดที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้มีจำนวนมากก็ตาม
  5. การดูแลคนไข้ผ่าน Telemedicine โรคหืดสามารถที่จะตรวจดูอาการและรักษาผ่านทางไกลได้ โดยส่งยาไปที่บ้านหรือรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน

ที่มา : สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.posttoday.com/

Leave a Reply