สุขภาพทั่วไป

กินโซเดียมมาก เสี่ยงไตวาย แนะ ชิมก่อนปรุง

Views

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย กินอาหารที่มีโซเดียมมาก เสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือด สมองแตก และไตวาย แนะปรับพฤติกรรมการกิน ชิมก่อนปรุง ลดกินอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ลดเค็ม ลดเสี่ยงโรค          แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบจาก การกินเค็ม องค์กรเคลื่อนไหวเรื่องเกลือและสุขภาพ (World Action on Salt and Health หรือWASH) จึงกำหนดให้สัปดาห์หนึ่งในเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นช่วงเวลาการรณรงค์ (World salt awareness week) โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 12-18 มีนาคม ในประเด็น “5 หนทางสู่ 5 กรัม” ซึ่งหมายถึง 5 วิธีการสู่การบริโภคเกลือ ไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน (เกลือ 1 ช้อนชามี 5 กรัม) และกรมอนามัยได้ดัดแปลงให้เหมาะกับวิถีไทยได้แก่ 1.เลือกกินผักผลไม้สดแทนผักผลไม้แปรรูป 2.ลดการปรุงเค็มลงเพื่อปรับการรับรส 3.ใช้เครื่องเทศแทนเครื่องปรุงรสเค็มในการปรุงอาหารให้กลมกล่อม 4.ฝึกนิสัยการไม่กินเค็มให้แก่เด็กโดยนำพวงเครื่องปรุงรสออกจากโต๊ะอาหาร 5.อ่านฉลากอาหารทุกครั้งก่อนซื้อ เพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันโดยเลือกผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นที่มีโซเดียม น้อยที่สุด นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เช่น ศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล รพ.สต. เป็นแม่ข่ายจัดสัปดาห์รณรงค์ลดการกินเค็มในทุกๆ ปี เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้เกิดความตระหนักและกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลดกินเค็ม ไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป           แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า องค์การนานาชาติหลายแห่ง เช่น International Federation of Kidney Foundation และ International Society of Nephrology ได้ร่วมกันกำหนดให้วันไตโลก (World Kidney Day) คือทุกวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม โดยในประเทศไทยได้มีคำขวัญ คือ “สตรีไทย ไต Strong” เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มสตรีเห็นความสำคัญของการลดกินเค็ม ไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป เนื่องจากโซเดียมไม่เพียงแต่มีในอาหารเกือบทุกชนิดตามธรรมชาติ เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง แต่ยังมีอยู่มากในเครื่องปรุงรสและอาหารแปรรูป เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสหอยนางรม ผงชูรส ไส้กรอก กุนเชียง อาหารหมักดอง รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารจำพวกขนมขบเคี้ยว ดังนั้น ในชีวิตประจำวันแม้จะไม่ได้ปรุงอาหารเพิ่ม แต่ร่างกายก็ได้รับโซเดียมจากอาหารธรรมชาติแล้วประมาณ 600-800 มิลลิกรัม          “ทั้งนี้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ใน 1 วันร่างกายไม่ควรรับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเปรียบเทียบเป็นเกลือ 1 ช้อนชา หากได้รับมากเกินไปก็จะมีผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองแตก และไตวาย ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิต การปรับพฤติกรรมการกินเป็นวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย และมีส่วนลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาโรคไตได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด*

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก : https://www.anamai.moph.go.th

Leave a Reply