หัวใจมีหน้าที่สำคัญอย่างไร หัวใจประกอบด้วยโพรงกล้ามเนื้อซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ห้อง ขนาดเท่ากำปั้นมือ มีลิ้นหัวใจอยู่ 4 ลิ้น ทำหน้าที่ปิดเปิดให้เลือดไหลผ่านเข้าออกหัวใจไปในทิศทางเดียว โดยไม่มีการไหลย้อนกลับ คนปกติขณะพักผ่อนหัวใจจะบีบตัวประมาณ 60-80 ครั้ง/นาที ในผู้ใหญ่ และประมาณ 80-100 ครั้ง/นาทีในเด็ก ขณะออกกำลังกายหัวใจจะบีบตัวเร็วขึ้น บางครั้งอาจถึง 140-160 ครั้ง/นาที หลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เรียกว่า หลอดเลือดโคโรนารี่ ถ้าหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาเลี้ยง อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจ แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ โดยทราบจากอาการต่าง ๆ เช่น เจ็บหน้าอก ใจเต้น ใจสั่น เป็นลม หอบ เหนื่อย และบวม สิ่งที่พบจากการตรวจร่างกาย เช่น เขียว ความดันเลือดผิดปกติ ชีพจรผิดปกติ หลอดเลือดผิดปกติ หัวใจผิดปกติ และจากการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีพิเศษ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอ็กซเรย์หัวใจ และปอด การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย เป็นต้น โรคหัวใจที่สำคัญ โรคหัวใจที่สำคัญแบ่งได้ดังนี้ คือโรคหัวใจจากความดันเลือด ความดันเลือดถ้าสูงผิดปกติอยู่นาน ๆ หัวใจต้องทำงานหนัก และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น ขนาดหัวใจโตขึ้นเกิดภาวะหัวใจวาย มีอาการเหนื่อยง่าย หอบ เมื่อทำงานหนัก บวมบริเวณเท้า นอนราบไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดเนื่องจากมีความผิดปกติของการเจริญเติบโตของหัวใจในเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา 3เดือนแรก ความพิการที่เกิดขึ้นอาจจากการมีรูโหว่ที่ผนังภายในหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หลอดเลือดผิดจากตำแหน่งปกติ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดโคโรนารี่ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง เกิดเนื่องจากมีการอุดตันในหลอดเลือดโคโรนารี่ที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจรูมาติค พบในเด็กอายุ 7-15 ปี เกิดจากเชื้อบักเตรีชนเบต้าฮีโมไลติค สเตร็ปโตคอคคัส ทำให้คอเจ็บอักเสบ มีไข้สูง ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ ถ้าได้รับเชื้อโรคนี้ซ้ำอีกจะเกิดอักเสบที่ข้อเข่า ข้อศอก และสมอง กล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อบุหัวใจ และลิ้นหัวใจมีการอักเสบ ถ้าเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้งก็จะเกิดพังผืดขึ้นที่ลิ้นหัวใจจนเปิดไม่เต็มที่ และปิดไม่สนิท ลิ้นหัวใจจะตีบแคบลงหรือรั่ว การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจ การตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(EKG) เพื่อวินิจฉัยโรค และภาวะผิดปกติของหัวใจ เช่น การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ ภาวะหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ ขนาดและผนังหัวใจที่โตผิดปกติ เป็นต้น การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (EST) โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากอัตราชีพจร ระดับความดัน และการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บันทึกไว้ตลอดเวลาขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย โดยให้เดินบนพื้นเลื่อน หรือสายพาน หรือถีบจักรยาน ซึ่งจะเพิ่มความเร็ว และความชันของพื้นเลื่อนหรือสายพานหรือถีบจักรยาน โดยผู้ป่วยจะต้องออกกำลังกายเพิ่มขึ้นไปตามมาตรฐานของการทดสอบ ข้อมูลที่ได้จะบอกให้ทราบถึงสมรรถภาพการทำงานของร่างกาย และหลอดเลือด ความสามารถในการออกกำลังกายของแต่ละบุคคล เป็นต้น การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือการตรวจเอ็คโคหัวใจ (Echocardiography) ในการตรวจชนิดนี้เป็นการตรวจหัวใจภายนอก โดยให้ผู้ป่วยนอนอยู่เฉย ๆ สามารถทำซ้ำได้โดยไม่เกิดอันตราย การตรวจแบบนี้ทำให้เห็นการเคลื่อนไหว และการบีบตัวของหัวใจว่าปกติดีหรือไม่ ความเร็ว และความดันเลือดเป็นอย่างไร ฯลฯ การตรวจสวนหัวใจ(CAG) เป็นขั้นตอนการตรวจขั้นสุดท้าย เป็นกุญแจดอกสำคัญในการรักษา โรคหลอดเลือดโคโรนารี่ ข้อมูลที่ได้จะบอกสภาวะของหลอดเลือดว่าตีบที่บริเวณใด ตีบมาก-น้อยเพียงใด และตีบกี่เส้น
หลังจากที่ท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจแล้ว การรับประทานยาเป็นแนวทางในการรักษาอย่างหนึ่ง แต่แพทย์อาจจะนัดให้มารับการตรวจรักษาเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนั้นการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม จะช่วยให้มีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพได้เช่นกัน การปฏิบัติตนให้มีอายุยืนยาว การปฏิบัติตนให้มีชีวิตยืนยาว มี 8 ประการ ด้วยกันคือ งดสูบบุรี่ หลีกเลื่ยงน้ำชา กาแฟ ของเสพติดมึนเมา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคุมจิตใจอย่าให้มีความเครียด ควบคุมความดันโลหิตและละดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยมากขึ้น พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อหาวิธีป้องกันรักษาโรคหัวใจและเพื่อให้มีคุณภาพที่ดีตลอด ศูนย์หัวใจ รพ. พญาไท 2 เปิดมิติใหม่ ในการบริการผู้ป่วยเจ็บแน่นหน้าอกสงสัยหัวใจขาดเลือด โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมอุปกรณ์การรักษาที่ทันสมัย ด้วยแผนปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นขั้นตอนและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยรถฉุกเฉิน Cardiac Ambulance ซึ่งมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จำเป็นเช่นเดียวกับอุปกรณ์ที่มีในห้องอภิบาลผู้ป่วยโรคหัวใจในโรงพยาบาล มีการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่งสามารถส่งข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ได้เตรียมการรักษา ตลอดจนการเปิดห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือดหรือห้องผ่าตัด เพื่อให้การรักษาเป็นไปด้วยความรวดเร็วตามมาตรฐานระดับสากล
ขอขอบคุณ:sanook.com