ผ่านมาเกือบครึ่งทางแล้วสำหรับคุณแม่ที่ตั้งท้อง 4 เดือน หรือช่วงที่มีอายุครรภ์ประมาณ 17-20 สัปดาห์ ในช่วงนี้ก็ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวคุณแม่เองและเจ้าตัวน้อยในครรภ์ ซึ่งจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลุ้นและตื่นเต้นกันเรื่อย ๆ ในเดือนต่อ ๆ ไป และการดูแลสุขภาพในระยะนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ท้อง 4 เดือน
การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งร่างกายของคุณแม่ที่ท้อง 4 เดือนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเผชิญปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ แสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือท้องผูก เป็นต้น ซึ่งนับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อบรรเทาอาการท้องผูกในระยะยาว รวมทั้งควรดื่มน้ำมาก ๆ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมด้วย
- จุดด่างดำหรือฝ้าบนใบหน้า อาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งควรป้องกันด้วยการทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน
- คันตามผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง มือ และเท้า ซึ่งการทาครีมบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นอาจช่วยให้อาการคันดีขึ้นได้
- ผิวแตกลาย มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ โดยปัญหาผิวแตกลายมักดีขึ้นหลังจากคลอดบุตรแล้ว ทั้งนี้ ระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจใช้ครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของสารเพิ่มความชุ่มชื้น เช่น โกโก้บัตเตอร์จากธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและลดรอยแตกลายที่เกิดขึ้น โดยควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
- อาการปวดร้าวลงขา อาจเกิดจากขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นจนไปกดทับเส้นประสาทไซแอททิค จึงทำให้มีคุณแม่บางคนมีอาการปวดร้าวตั้งแต่บริเวณเอวหรือสะโพกไล่ลงมาที่ขา หากเกิดอาการนี้ คุณแม่อาจบรรเทาอาการปวดด้วยการนอนตะแคงแล้วใช้หมอนรองระหว่างหัวเข่ายาวไปจนถึงข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง
- กลุ่มอาการประสาทมือชา (CTS) เกิดขึ้นได้ประมาณ 62 เปอร์เซ็นต์ในช่วงตั้งครรภ์ โดยจะรู้สึกเจ็บ ชา และเป็นเหน็บบริเวณมือกับแขน และมักมีอาการดีขึ้นเองหลังคลอด
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ปวดบริเวณแผ่นหลัง ขาหนีบ หรือต้นขา เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่าง รวมทั้งการขยายตัวของมดลูกที่ทำให้หน้าท้องมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนไป โดยอาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ด้วยการนวด การประคบร้อน หรือประคบเย็น
- รู้สึกหน่วงท้อง ซึ่งเป็นผลมาจากการตึงของเส้นเอ็นที่ยึดมดลูก อาจเกิดขึ้นในระหว่างการยืนหรือการไอ โดยคุณแม่อาจลองเคลื่อนตัวช้าลงในขณะเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อช่วยลดอาการปวด
- นอนไม่หลับ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้นอนหงายได้ลำบากกว่าเดิม ปวดปัสสาวะบ่อยในช่วงตั้งครรภ์ รวมถึงเกิดความเครียดหรือความกังวลต่าง ๆ จนส่งผลให้นอนไม่หลับ เป็นต้น
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ คุณแม่อาจต้องวางแผนเพิ่มน้ำหนักตัวขึ้นประมาณ 1.5-2 กิโลกรัม เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ และในช่วงนี้คุณแม่เองก็อาจมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
- ติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ คุณแม่อาจติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายในระยะนี้ เนื่องจากกล้ามเนื้อในกระเพาะปัสสาวะบางส่วนคลายตัว
พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 4 เดือน
ในช่วงสัปดาห์ที่ 17 ทารกจะมีขนาดตัวประมาณ 13 เซนติเมตร หนักประมาณ 140 กรัม มีนิ้วมือ นิ้วเท้า และลายนิ้วมือ หากตรวจด้วยเครื่องฟังเสียงความถี่สูงอาจได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจ โดยทารกจะมีเปลือกตา ขนตา ขนคิ้ว เส้นผม และเล็บเกิดขึ้นแล้ว และสามารถดูดนิ้วหัวแม่มือของตนเอง หาว รวมถึงขยับใบหน้าได้ แต่กระดูกส่วนใหญ่ยังคงเป็นกระดูกอ่อน ระบบประสาทก็เริ่มทำงาน จึงทำให้ทารกได้ยินเสียงต่าง ๆ ทั้งเสียงการเต้นของหัวใจ เสียงการทำงานของกระเพาะอาหาร รวมถึงเสียงพูดของคุณพ่อคุณแม่และเสียงจากภายนอกได้ ทารกอาจใช้มือปิดหู หรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยขึ้น ทั้งกระโดด หมุนตัว เตะ หรือต่อยท้อง ทำให้คุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกดิ้น ซึ่งคุณแม่จะได้เห็นทารกในครรภ์เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการอัลตราซาวด์ และหากทารกอยู่ในท่าทางที่เหมาะสมก็อาจทำให้คุณแม่ได้ทราบเพศของลูกน้อยด้วย
นอกจากนี้ ผิวของทารกจะเป็นสีแดงด้วย เพราะมีเส้นเลือดใต้ผิวหนังที่สามารถมองเห็นทะลุผ่านได้ อีกทั้งยังมีการผลิตไขมันสีขาวเคลือบตามผิวหนัง เพื่อปกป้องผิวจากการสัมผัสกับน้ำคร่ำเป็นเวลานาน และช่วยให้ทารกเคลื่อนผ่านช่องคลอดได้ง่ายเมื่อถึงกำหนดคลอด และในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ทารกจะมีขนาดตัวตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้ายาวประมาณ 25.6 เซนติเมตร หรือมีขนาดประมาณกล้วยหอม 1 ผล
เคล็ดลับสุขภาพดีสำหรับคุณแม่ท้อง 4 เดือน
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษเสมอ เพื่อสุขภาพของตนและลูกน้อยในครรภ์ โดยปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- ไปพบแพทย์ตามนัดฝากครรภ์ คุณแม่ต้องไปพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ เพื่อตรวจเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ความผิดปกติทางพันธุกรรม และอัลตราซาวด์เพื่อตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วย
- สวมรองเท้าส้นเตี้ย ขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นอาจส่งผลให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนไป ซึ่งการสวมใส่รองเท้าส้นเตี้ยจะช่วยรักษาสมดุลและการทรงตัวในขณะก้าวเดินให้มั่นคงมากขึ้น
- นวดผ่อนคลาย อาจเลือกโปรแกรมนวดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายสบายตัวขึ้น
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป หรือมีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 เป็นต้นไป อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม โปรตีน ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก ผัก ผลไม้ ธัญพืช รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น ซึ่งคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับตนเอง
สัญญาณสำคัญที่ควรไปพบแพทย์
แม้ในช่วงนี้ คุณแม่ที่ท้อง 4 เดือนเสี่ยงต่อการแท้งลูกน้อยลง แต่ก็ยังเป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการตั้งครรภ์ด้วย ดังนั้น ควรรีบไปพบแพทย์หากมีความผิดปกติที่ทำให้ไม่สบายตัว ไม่สบายใจ หรือมีอาการดังต่อไปนี้
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- มีตกขาวมากผิดปกติ
- มีไข้ หนาวสั่น
- รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ
- ปวดท้องส่วนล่าง หรือเป็นตะคริวอย่างรุนแรงบริเวณอุ้งเชิงกราน
- มีอาการบวมที่ข้อเท้า มือ ใบหน้า หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขอขอบคุณข้อมูล:pobpad.com