สุขภาพกาย

โรคฮิบ (HAEMOPHILUS INFLUENZAE TYPE B)

Views

Haemophilus Influenzae Type B หรือโรคฮิบ เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ ชนิดบี ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็ง ชัก หรือเกิดอาการเจ็บป่วยร้ายแรงต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ ปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยโรคนี้มักเกิดในเด็กเล็ก และเชื้อชนิดนี้สามารถแพร่กระจายจากละอองในอากาศผ่านการไอหรือจาม รวมถึงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากจมูกและคอของผู้ติดเชื้อ

อาการของโรคฮิบ

ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็ง ชัก เซื่องซึมอย่างรุนแรง ตื่นนอนยาก หายใจลำบาก และหมดสติได้ โดย Haemophilus Influenzae Type B อาจทำให้เกิดปัญหาแตกต่างกันไปตามบริเวณที่ติดเชื้อด้วย เช่น

  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เป็นภาวะติดเชื้อบริเวณผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวมแดง ปวด และอาการดังกล่าวมีแนวโน้มขยายเป็นบริเวณกว้าง โดยบางรายอาจมีไข้หรืออาการอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่ในกรณีที่รุนแรง การติดเชื้ออาจแพร่กระจายสู่กระแสเลือดและก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้   
  • ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ เป็นการอักเสบรุนแรงบริเวณคอที่พบได้ยาก มักพบในเด็กอายุ 2-4 ปี โดยเริ่มแรกผู้ป่วยอาจเกิดอาการเจ็บคออย่างรุนแรงและเป็นไข้ จากนั้นอาจเกิดเสียงดังผิดปกติขณะหายใจ เมื่อฝาปิดกล่องเสียงบวมจะทำให้น้ำลายไหล กลืนน้ำลายลำบาก และอาจปิดกั้นทางเดินหายใจจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้
  • ปอดบวม เป็นอาการปอดติดเชื้อและเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการสำคัญอย่างมีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นปอดบวมอาจเกิดอาการเหล่านี้ไม่ครบทั้งหมดก็ได้ ในเด็กทารกหรือเด็กเล็กอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ซึม ร้องกวน ไม่ยอมดูดนม และบางรายอาจมีอาการชักจากไข้ด้วย ส่วนผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม สับสน และไม่มีไข้
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นการอักเสบและบวมบริเวณเนื้อเยื่อส่วนที่ห่อหุ้มสมองและกระดูกสันหลัง ส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นไข้ มีความอยากอาหารลดลง ร้องไห้หรือหงุดหงิดมากขึ้น เป็นลมชัก นอนนาน และอาเจียน สำหรับเด็กอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป อาจมีอาการปวดศีรษะ คอเคล็ด และปวดหลังร่วมด้วย

นอกจากนี้ อาจเกิดการติดเชื้อในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วย อย่างติดเชื้อในกระแสเลือด กระดูกอักเสบ และภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยไอและการหายใจมีปัญหา ภาวะข้ออักเสบที่มีอาการบวมแดงและเจ็บข้อ รวมถึงการติดเชื้อที่หู ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดหูอย่างรุนแรง

สาเหตุของโรคฮิบ

โรคฮิบหรือ Haemophilus Influenzae Type B เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ ชนิดบี ซึ่งอาศัยอยู่ภายในจมูกและคอของคน โดยทั่วไปเชื้อนี้มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่อาจเคลื่อนที่ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยแบคทีเรียชนิดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการสูดดมละอองที่มาจากการไอและจาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อหรือเป็นพาหะนำโรค โดยอาจใช้เวลา 2-3 วัน ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการป่วยออกมา

ทั้งนี้ คนบางกลุ่มก็มีความเสี่ยงในการเกิดโรค Haemophilus Influenzae Type B มากกว่าคนทั่วไป ดังนี้

  • เด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด หรืออยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียน     
  • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ไม่มีม้าม ติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคธาลัสซีเมีย มีภาวะอิมมูโนโกลบูลินต่ำหรือภาวะพร่องคอมพลีเมนต์และแอนติบอดี้ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง และผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด การฉายรังสี หรือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก
  • ผู้ที่สูบบุหรี่

การวินิจฉัยโรคฮิบ

แพทย์อาจวินิจฉัยอาการของ Haemophilus Influenzae Type B ด้วยการซักประวัติสุขภาพและสอบถามอาการจากผู้ป่วย ตรวจร่างกาย และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมบางประการ เช่น การเก็บตัวอย่างเลือดไปส่งตรวจ การตรวจของเหลวในไขสันหลังซึ่งเป็นการใช้เข็มดูดน้ำไขสันหลังออกมาและนำไปตรวจวินิจัยฉัยต่อไป หรือการเก็บตัวอย่างอื่น ๆ จากร่างกายผู้ป่วย เพื่อนำไปตรวจให้ทราบว่าเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ ชนิดบีจริงหรือไม่ เป็นต้น

การรักษาโรคฮิบ

โรค Haemophilus Influenzae Type B สามารถรักษาได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 10 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละคน โดยผู้ป่วยบางคนอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะหลายตัวเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น และอาจต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิดและจ่ายยาที่เหมาะสมให้ตามอาการ

นอกจากนี้ ยังมีการรักษาอื่น ๆ เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยหนักที่มีอาการฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ การใช้ยาลดความดันโลหิต และการดูแลบาดแผลที่เกิดจากผิวหนังถูกทำลายตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดงานหรือหยุดเรียนหากยังมีอาการอยู่หรือหลังจากเริ่มใช้ยาปฏิชีวนะไปแล้วประมาณ 1-2 วัน และผู้ป่วยบางรายต้องอยู่ห่างจากบุคคลที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค Haemophilus Influenzae Type B ด้วย โดยเฉพาะทารกแรกเกิดหรือผู้สูงอายุที่อาจมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคฮิบ

แม้จะมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แต่โรค Haemophilus Influenzae Type B ก็อาจทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวหรือนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในบางกรณี ดังนี้

  • การติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียอวัยวะอย่างแขนหรือขาได้ หรืออาจเสี่ยงเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความพิการทางสมองประมาณ 15-30 เปอร์เซ็นต์ เช่น สมองถูกทำลาย สูญเสียการได้ยิน และมีความบกพร่องทางสติปัญญา เป็นต้น โดยผู้ป่วยที่เผชิญภาวะนี้มีโอกาสเสียชีวิตได้ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์

การป้องกันโรคฮิบ

วิธีที่สามารถป้องกันโรค Haemophilus Influenzae Type B ได้ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ ซึ่งโดยปกติเด็กแรกเกิดควรได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เมื่ออายุ 2 เดือน เข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4 เดือน และเข็มที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน สำหรับเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปที่มีสุขภาพแข็งแรงอาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันอีก ยกเว้นแต่จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอจากปัญหาสุขภาพอย่างการติดเชื้อเอชไอวี ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานผิดปกติ แพทย์จึงอาจแนะนำให้มาฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กมีอายุ 12-18 เดือน เพื่อเป็นการป้องกันโรคในระยะยาว  

อย่างไรก็ตาม แม้โดยทั่วไปวัคซีนป้องกันโรค Haemophilus Influenzae Type B แทบไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง แต่ในบางครั้งผู้ที่รับการฉีดก็อาจมีอาการบวมแดงบริเวณผิวหนังที่ถูกฉีดยาเข้าไปได้ และวัคซีนป้องกันโรคนี้สามารถป้องกันได้เพียงเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ ชนิดบีเท่านั้น ผู้ปกครองจึงควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อให้บุตรหลานได้รับวัคซีนอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ แม้ตามปกติแล้วการฉีดวัคซีนโรคนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่กระทรวงสาธารณสุขอาจมีนโยบายบรรจุวัคซีน Haemophilus Influenzae Type B ลงในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้เด็กไทยได้รับวัคซีนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยอาจจะฉีดรวมกันกับวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบีภายในเข็มเดียว ซึ่งคาดว่าอาจเริ่มต้นใช้วัคซีนรวม 5 โรคนี้ในปี 2562 ต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.pobpad.com/

Leave a Reply