ภูมิแพ้

คันเท้าอาการกวนใจ สาเหตุและการดูแลเบื้องต้น

Views

คันเท้า เป็นอาการที่อาจสร้างความรำคาญใจได้ไม่น้อย นอกจากแมลงกัดต่อย หรือความอับชื้นแล้ว อาการคันเท้าเกิดได้จากสาเหตุมากมาย นอกจากนี้เมื่อเกิดอาการคัน คนส่วนใหญ่มักอดไม่ได้ที่จะเกาเพื่อบรรเทาอาการ แต่รู้หรือไม่ว่าการเกาอาจส่งผลให้ผิวหนังระคายเคืองมากยิ่งขึ้นได้ บทความนี้รวบรวมสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดอาการคันเท้า และวิธีดูแลตนเองเบื้องต้นที่ถูกต้องมาให้ได้ศึกษากัน

คันเท้า เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ?

อาการคันเท้าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • โรคติดเชื้อของผิวหนัง โรคติดเชื้อที่เท้าบางชนิดสามารถทำให้เกิดให้เกิดอาการคันได้โดยตรง ดังนี้
    • โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot) เกิดจากการที่ผิวหนังบริเวณเท้าติดเชื้อรา ซึ่งก่อให้เกิดอาการคัน อาจเกิดผื่นแดง เป็นขุย ลอก และอาจรุนแรงขึ้นเมื่อถอดถุงเท้า โดยสาเหตุนั้นอาจเกิดจากการสัมผัสพื้นที่เปียก ร่วมกับเมื่อสวมรองเท้าที่อับชื้น เชื้อราจึงสามารถเติบโตได้ดีและก่อให้เกิดโรคนี้ในที่สุด
    • โรคหิด หิดเป็นปรสิตที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ตัวหิดนั้นสามารถฝังตัวลงไปในผิวหนังชั้นนอก บริเวณเท้า ฝ่ามือ แขน และข้อพับ ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการคันหรือแผลเล็ก ๆ ได้ โดยอาการคันมักรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืน สามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง
    • โรคพยาธิปากขอ อาจเกิดจากการเดินเท้าเปล่าบนดินที่มีไข่ของพยาธิปะปนอยู่ เมื่อพยาธิปากขอฟักตัวและอาศัยภายในผิวหนังอาจก่อให้เกิดอาการแพ้และผื่นคันได้ นอกจากนี้ พยาธิปากขอยังสามารถอาศัยอยู่ภายในปอดและลำไส้ของมนุษย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความผิดปกติอื่น ๆ ได้อีกด้วย
  • โรคผิวหนัง โรคที่เกิดกับผิวหนังทั่วไป หากเกิดที่เท้า ก็ส่งผลให้มีอาการคันเท้าได้ ดังนี้
    • โรคสะเก็ดเงิน เป็นหนึ่งในโรคแพ้ภูมิตัวเอง มีสาเหตุมาจากเซลล์ผิวหนังชั้นนอกที่เจริญเติบโตเร็วผิดปกติเกาะกันแน่นบนผิวหนัง อาจทำให้เกิดอาการคัน แห้ง ตกสะเก็ด และแตกเป็นแผลได้ นอกจากนี้ ผื่นสะเก็ดเงินบริเวณเท้า อาจทำให้ข้อนิ้วเท้าอาจทำให้ปวดและบวมได้
    • ภูมิแพ้ผิวหนัง ผู้ที่เป็นโรคนี้ผิวหนังอาจบอบบางและแพ้ง่าย เมื่อเท้าสัมผัสกับสิ่งแปลกปลอม อย่างสารเคมี สิ่งสกปรก หรือสารก่อภูมิแพ้ ร่างกายจะตอบสนองกับสารนั้นรุนแรงกว่าปกติ จนอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองและอาการคันที่เท้าได้
    • ผิวหนังอักเสบ เป็นภาวะที่ทำให้ผิวแห้ง เกิดผื่นแดงคัน และก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง ผู้ที่มีภาวะนี้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
  • โรคอื่น ๆ โรคบางโรคอาจก่อให้เกิดอาการคันและเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ ดังนี้
    • โรคเบาหวาน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอาจส่งผลให้ผิวแห้งและคันได้ นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานนั้นอาจมีแผลเปิดซึ่งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงที่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการคัน
    • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งผิวหนังอาจก่อให้เกิดอาการคันได้ นอกจากนี้ การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีเคมีบำบัดและรังสีรักษาก็อาจทำให้เกิดอาการคันได้เช่นกัน
    • โรคไตวาย ในภาวะที่ไตไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ของเสียที่สะสมอยู่ในเลือดอาจส่งผลให้เกิดอาการคันผิวหนังรวมถึงบริเวณมือและเท้าอย่างรุนแรงได้
  • สาเหตุอื่น ๆ อาการคันเท้ายังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ดังนี้
    • ผิวแห้ง เป็นสาเหตุทั่วไปที่อาจก่อให้ผิวหนังเกิดอาการคัน แตก ลอก และเป็นขุย ผิวแห้งอาจเกิดจากการอาบน้ำอุ่น อาบน้ำหรือแช่น้ำนานเกินไป ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพก็อาจทำให้ผิวแห้งได้
    • การตั้งครรภ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์อาจประสบกับอาการคันได้ ทั้งในบริเวณเท้า ส้นเท้า ฝ่ามือ และหน้าท้อง อาการคันในคนท้องนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และมักไม่อันตราย แต่ถ้าหากอาการคันรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติอื่น ๆ
    • แมลงกัดต่อย เป็นอีกสาเหตุที่ก็ให้เกิดอาการคันได้ ในเบื้องต้นอาจเป็นเพียงอาการคันหรือตุ่มบนผิวหนังขนาดเล็ก แต่ในผู้ที่มีอาการแพ้สารก่อภูมิแพ้ในแมลงอาจมีการบวมแดง ผิวหนังอักเสบ และคันมากกว่าปกติ

บรรเทาและป้องกันอาการคันเท้าได้อย่างไร ?

อาการคันเท้า เกิดจากหลากหลายสาเหตุ การกำจัดที่สาเหตุเป็นการรักษาและบรรเทาอาการที่ดีที่สุด แต่ในกรณีที่เกิดจากสาเหตุไม่รุนแรง วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันและบรรเทาอาการคันเท้าได้

  • รักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ
  • ไม่ควรเกาบริเวณที่คัน เนื่องจากจะทำให้อาการคันรุนแรงมากขึ้น หากไม่สามารถทนได้อาจใช้วิธีการลูบเบา ๆ บริเวณในที่คันแทน
  • ทาครีมหรือโลชั่นอยู่เสมอเพื่อรักษาและป้องกันอาการผิวแห้ง
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจทำให้อาการคันรุนแรงขึ้น
  • ประคบเย็นบริเวณที่คันอาจช่วยบรรเทาอาการคันได้
  • ไม่ควรอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนเป็นประจำ เพราะทำให้ผิวแห้ง และเกิดอาการคันมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องประทินผิวที่มีส่วนผสมของน้ำหอม และแอลกอฮอล์
  • ใช้ยาแก้แพ้ ในกรณีที่ผิวหนังเกิดอาการแพ้จากสารเคมี หรือแมลงกัดต่อย
  • สวมเสื้อผ้าและถุงเท้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อลดความอับชื้นของเหงื่อหรือสิ่งสกปรก
  • สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่อออกไปข้างนอก หรือในพื้นที่ที่สกปรก

อย่างไรก็ตาม หากอาการคันส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ทุเลาลงภายใน 1-2 สัปดาห์ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเข้ารับการรักษาสม่ำเสมอและปฏิบัติคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งจะช่วยทั้งบรรเทาอาการของโรคและอาการคันเท้า

ข้อมูลจาก https://www.pobpad.com

Leave a Reply