โควิด-19 : อังกฤษทดลองใช้ยาไอบูโพรเฟน รักษาผู้ป่วยโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ – BBCไทย
คณะนักวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาลกายส์ และโรงพยาบาลเซนต์โทมัส ในกรุงลอนดอน รวมทั้งสถาบันคิงส์คอลเลจ ของอังกฤษ ได้ทำการทดลองใช้ยาลดไข้และแก้อักเสบไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล
การทดลองครั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จะใช้ยาไอบูโพรเฟน สูตรพิเศษ ที่แตกต่างไปจากตัวยาที่วางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด โดยเชื่อว่าจะช่วยรักษาอาการหายใจลำบากในผู้ป่วยได้ และหวังว่านี่อาจเป็นวิธีการรักษาที่มีราคาถูกซึ่งจะช่วยให้คนไข้ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
ผลการศึกษาโดยใช้สัตว์ทดลองหลายชิ้นก่อนหน้านี้พบหลักฐานบ่งชี้ว่า ยาไอบูโพรเฟน อาจช่วยรักษาอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome) ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัสโคโคนาที่มีอาการรุนแรงได้
การทดลองครั้งนี้มีขึ้นแม้ในช่วงต้นการระบาดของโรคโควิด-19 จะมีความกังวลว่ายาไอบูโพรเฟนอาจส่งผลเสียต่อผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีอาการไม่รุนแรง
โดยเมื่อเดือน มี.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำแนะนำอย่างเป็นทางการ ให้ผู้ป่วยโควิด-19 หลีกเลี่ยงการรับประทานยาชนิดนี้เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ลุกลามเร็วขึ้นและส่งผลรุนแรงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม Commission on Human Medicines ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลสหราชอาณาจักรในด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ยา ได้ศึกษาถึงข้อกังวลดังกล่าว และมีข้อสรุปว่า ยาไอบูโพรเฟน มีความปลอดภัยสำหรับใช้รักษาอาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นเดียวกับยาพาราเซตามอล (paracetamol) เพราะยาทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ช่วยลดไข้และบรรเทาอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่
อย่างไรก็ตาม สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของอังกฤษแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาพาราเซตามอลก่อน เพราะมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาไอบูโพรเฟน และมีความปลอดภัยกว่าสำหรับคนส่วนใหญ่
ข้อมูลจากทางการสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มอีก 1,871 ราย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศอยู่ที่ 279,856 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มอีก 359 คน ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในโรงพยาบาลแล้วทั้งสิ้น 39,728 คน
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโลกนั้น มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกอยู่ที่ 6.4 ล้านคน และเสียชีวิตรวมกว่า 382,451 คน โดยสหรัฐฯ ยังเป็นพื้นที่การระบาดรุนแรงที่สุด มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลกที่ 1,841,629 คน และเสียชีวิตอย่างน้อย 106,696 คน
ขณะที่บราซิลมียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับ 2 ที่ 555,383 คน และเสียชีวิตแล้ว 31,199 คน หลังจากยอดผู้เสียชีวิตรายวันพุ่งถึง 1,262 คน
ยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งพรวดนี้มีขึ้นในเวลาเดียวกับที่หลายเมืองใหญ่ในบราซิลเริ่มกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง สถานการณ์นี้ได้สร้างความวิตกกังวลอย่างมากในหมู่นักการสาธารณสุขและทางการท้องถิ่นของบราซิลที่ไม่เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เร็วจนเกินไป สวนทางกับท่าทีของประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ที่ชี้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์อาจร้ายแรงกว่าการระบาดของเชื้อไวรัส
ส่วนรัสเซียมียอดผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 3 ของโลกที่ 432,277 คน หลังจากเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งพรวดถึง 8,536 คน และมีผู้ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้วอย่างน้อย 5,215 ราย
ทางการรัสเซียระบุว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในกรุงมอสโก ซึ่งประชาชนได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้านได้แล้ว หลังมีการคลายล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. แต่ยังคงมีข้อบังคับบางประการที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามอยู่เช่น การสวมหน้ากากอนามัย และการกำหนดเวลาที่สามารถออกไปเดินนอกบ้านได้
ขณะที่อิตาลีได้ยกเลิกข้อห้ามประชาชนเดินทางข้ามภูมิภาคแล้ว และเปิดพรมแดนให้พลเมืองจากชาติยุโรปส่วนใหญ่เดินทางเข้าอิตาลีได้โดยไม่ต้องเข้ากระบวนการกักโรค ด้วยความหวังจะดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับเข้าประเทศอีกครั้งในฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงหน้าร้อน
ขอขอบคุณข้อมูล:khaosod.co.th