โรคซาร์คอยด์ (Sarcoidosis) เป็นโรคทางระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในอวัยวะของร่างกาย โรคนี้เกิดขึ้นเมื่อมีเซลล์ของการอักเสบเจริญขึ้นในอวัยวะ โดยมากมักพบที่ปอด เรียกว่าโรคซาร์คอยด์ในปอด (Pulmonary sarcoidosis) รวมถึงบริเวณต่อมน้ำเหลือง ตา และผิวหนัง
สมาคมโรคปอดแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวว่า โรคซาร์คอยด์ประมาณครึ่งหนึ่งสามารถหายไปได้เอง แต่หากไม่หายก็สามารถเข้ารับการรักษาเพื่อช่วยให้ปอดและอวัยวะอื่นๆ ทำงานได้ดีขึ้น และในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ขั้นรุนแรงอาจจะต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
สาเหตุของการเกิดโรคซาร์คอยด์
ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากคิดว่าโรคซาร์คอยด์เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายพยายามควบคุมสารที่ไม่รู้จัก ซึ่งมักจะมาจากอากาศที่หายใจเข้าไป โดยปกติแล้วเมื่อมีสารที่อันตรายเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันก็จะส่งเซลล์มาที่อวัยวะนั้นๆ เพื่อช่วยทำลายสารดังกล่าว เมื่อมีการต่อสู้เกิดขึ้น จึงทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ และเมื่อสามารถกำจัดสารดังกล่าวไปได้แล้ว เซลล์ของภูมิคุ้มกันและกระบวนการอักเสบก็จะหายไป แต่หากคุณเป็นโรคซาร์คอยด์ การอักเสบจะยังคงอยู่ต่อไป เนื่องจากมีการสะสมของเซลล์และทำให้เกิดก้อนขึ้นในอวัยวะของคุณ
อาการของโรคซาร์คอยด์
ผู้ป่วยโรคซาร์คอยด์บางคนค่อยๆ มีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ในขณะที่บางคนมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการมักจะตรวจพบว่าตนเองเป็นโรคนี้เมื่อเข้ารับการตรวจเอกซเรย์จากปัญหาหรืออาการอื่น
อาการและอาการแสดงของโรคซาร์คอยด์มีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากโรค เมื่อเกิดโรคซาร์คอยด์ขึ้นในอวัยวะอื่นๆ นอกจากปอด คุณอาจมีอาการต่อไปนี้ได้
- ผิวหนังเป็นขุย
- มีก้อนแดงที่ขา
- เป็นไข้
- เจ็บตา
- ข้อเท้าปวดและบวม
- อ่อนเพลีย
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- น้ำหนักลด
หากโรคนี้เกิดขึ้นที่ปอด คุณอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- คอแห้งเรื้อรัง
- หายใจตื้น
- หายใจมีเสียงวี้ด
- เจ็บหน้าอกเล็กน้อย
การรักษาโรคซาร์คอยด์
โรคซาร์คอยด์ไม่มีวิธีรักษา แต่อาการของโรคมักหายไปได้เอง อย่างไรก็ตามการรักษาจะมุ่งเน้นที่การบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากโรค โดยแพทย์จะรักษาตามอาการ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ และความสามารถในการทำงานของอวัยวะนั้น
หากโรคนี้เกิดขึ้นที่ตา หัวใจ หรือสมอง คุณจะต้องเข้ารับการรักษาไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาเหล่านี้เพื่อใช้ในการรักษา
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) มักเป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ เนื่องจากสามารถลดการอักเสบได้ โดยสามารถใช้กับผิวหนังที่เป็นโรคได้โดยตรงหากใช้ในรูปแบบครีม หรือจะใช้ในรูปแบบยารับประทาน ใช้สูดเพื่อให้เข้าไปที่ปอด หรือให้ทางเส้นเลือดดำก็ได้
- ยากลุ่ม Anti-rejection ช่วยลดการอักเสบโดยการกดภูมิคุ้มกัน
- ยาต้านมาลาเรีย อาจช่วยรักษาโรคที่เกิดกับผิวหนัง ระบบประสาท และภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้
- Tumor necrosis factor-alpha (TNF-alpha) inhibitors อาจใช้ได้หากการรักษาด้วยยากลุ่มอื่นไม่ได้ผล
อย่างไรก็ตามหากปอดหรือตับของคุณถูกทำลายอย่างรุนแรงจากโรคนี้ แพทย์อาจไม่มีทางเลือกอื่นในการรักษา นอกจากการแนะนำให้เข้ารับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.honestdocs.co/