การที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติถือเป็นภาวะผิดปกติที่พบได้บ่อยที่สุดของต่อมไทรอยด์
ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyroidism) คือภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ไม่สามารถผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนได้มากเพียงพอ ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณฐานของลำคอ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนซึ่งส่งผลต่อกระบวนการเผาผลาญพลังงาน และกระบวนการอื่นๆ เมื่อไทรอยด์ฮอร์โมนถูกสร้างน้อยกว่าปกติ จึงทำให้การทำงานของร่างกายช้าลง ซึ่งภาวะนี้ถือเป็นภาวะผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่พบได้บ่อยที่สุด
อาการของภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyroidism)
อาการหรืออาการแสดงของภาวะนี้ประกอบด้วย
- น้ำหนักเพิ่ม
- อ่อนเพลีย
- ขี้หนาว
- ซึมเศร้า
- ผิวแห้ง
- ผมบาง
- มีประจำเดือนมาก
- มีปัญหาในการนอน
- วอกแวกง่าย
- มีข้อบวมหรือปวด
- ท้องผูก
- มีระดับ cholesterol สูง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
แพทย์อาจทำการตรวจร่างกาย เจาะเลือด หรือใช้ภาพวินิจฉัยเพื่อช่วยในการตรวจหาภาวะนี้
ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyroidism) เกิดจากอะไร?
ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyroidism) สามารถเกิดได้กับทุกคน แต่ในผู้หญิงอายุมากกว่า 60 ปีจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้มากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ประกอบด้วย
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นภาวะนี้
- เป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง (เช่นโรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์ โรคเบาหวานประเภทที่ 1 หรือโรค lupus)
- รับประทานยาต้านไทรอยด์ (anti-thyroid)
- เคยเข้ารับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
Hashimoto’s Thyroiditis
เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคุณเข้าทำลายต่อมไทรอยด์ และมักจะทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ภาวะนี้ถือเป็นสาเหตุของภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำที่พบได้บ่อยที่สุด ภาวะนี้สามารถเป็นได้ทุกคน แต่มักพบบ่อยในกลุ่มผู้หญิงวัยกลางคน แพทย์อาจวินิจฉัยภาวะนี้จากการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ การรักษามักเป็นการรับประทานยาทดแทนฮอร์โมน
การรับประทานไอโอดีน
ปริมาณไอโอดีนที่เหมาะสมมีความสำคัญในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ การรับประทานไอโอดีนในปริมาณที่น้อยเกินไปจึงอาจนำไปสู้ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำได้ ในขณะที่ถ้ามีไอโอดีนมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือทำให้อาการของโรคนี้แย่ลง ไอโอดีนเป็นสารที่พบได้ในอาหาร เช่นสาหร่ายทะเล อาหารทะเล และเกลือไอโอดีน ในบางพื้นที่อาจพบภาวะขาดไอโอดีนได้ทั่วไป แต่พบได้น้อยในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเกลือที่ใช้ภายในประเทศมีการผสมไอโอดีน
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy)
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์สามารถทำให้เกิดการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนที่ช้าลงหรือหยุดสร้างได้ นำไปสู่ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ Graves’ disease หรือมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์อาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดนี้
สาเหตุอื่นๆ ของภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ อาจเกิดจาก
การใช้ยา มียาหลายชนิดที่สามารถส่งผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ เช่น lithium ซึ่งพบได้บ่อย นอกจากนั้นการกลืนแร่ไอโอดีนเพื่อรักษาภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงอาจทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์เสียไป
การฉายรังสี การฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็งบริเวณศีรษะ และคออาจทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำได้
ความผิดปกติแต่กำเนิด ในทารกบางคนอาจไม่มีต่อมไทรอยด์หรือมีต่อมผิดปกติมาแต่กำเนิดซึ่งจะนำไปสู่ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
ความผิดปกติที่พบได้ไม่บ่อย มีโรคบางโรคที่เกิดการสะสมสารที่ผิดปกติในต่อมไทรอยด์ ทำให้ส่งผลต่อการทำงานของต่อม เช่นโรค Amyloidosis, sarcoidosis หรือ hemochromatosis
การตั้งครรภ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์บางคนมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านต่อมไทรอยด์ของตนเอง ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ขณะหรือหลังจากตั้งครรภ์
ความผิดปกติของต่อมใต้สมอง เมื่อต่อมใต้สมองไม่สามารถผลิตฮอร์โมนมากระตุ้นต่อมไทรอยด์ (Thyroid-stimulating hormone – TSH) ได้มากเพียงพอ ก็จะทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำได้
Myxedema เป็นภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำขั้นรุนแรง พบได้น้อยแต่สามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
อาการของโรคนี้ประกอบด้วย
- หายใจลดลง
- อุณหภูมิกายต่ำ
- ความดันโลหิตต่ำ
- หมดสติ
การรักษาภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
การรักษาภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำมักใช้การรับประทานยา Levothyroxine หรือในชื่อการค้า Levothroid, Synthroid และอื่นๆ ซึ่ง Levothyroxine เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ ทำหน้านี้ทดแทนฮอร์โมน thyroxine ที่ร่างกายสร้างได้ไม่เพียงพอ โดยปกติยานี้จะต้องรับประทานทุกวันเพื่อลดอาการของโรค Levothyroxine อาจทำให้ระดับ cholesterol ในเลือดลดลง และทำให้น้ำหนักกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ยานี้มีผลข้างเคียงน้อย และมักมีราคาไม่แพง มักจะต้องรับประทานยานี้ไปตลอดชีวิต แต่แพทย์อาจทำการปรับระดับยาของคุณเป็นระยะ
อาหารสำหรับภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่รับรองว่าการรับประทานอาหารประเภทใดจะช่วยเพิ่มการทำงานของค่อมไทรอยด์ แต่นักวิจัยมีการเสนอว่าการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารมากอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยาทดแทนไทรอยด์ฮอร์โมนได้น้อยลง
ดังนั้นหากคุณกำลังรับประทานยาทดแทนไทรอยด์ฮอร์โมนอยู่ คุณอาจจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดหลังกินยาหลายชั่วโมง
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงประกอบด้วย
- แป้งจากถั่ว
- ยาทดแทนธาตุเหล็กและแคลเซียม
- ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมหรือแมกนีเซียม
- ยาลดแผลในกระเพาะหรือยาลดระดับ cholesterol บางชนิด
- ลูกวอลนัท
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.honestdocs.co/