การเตรียมตัวเพื่อรับการรักษา
เมื่อได้รับใบนัดหมายการรักษาแล้ว ให้ปฏิบัติตัวดังนี้
1. งดรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง ได้แก่ อาหารทะเล เกลืออนามัย น้ำปลา ซีอิ๊ว นม โยเกิร์ต ชีส ไข่แดง และอาหารหมักดอง อาจใช้เกลือสินเธาว์แทนเกลืออนามัยและน้ำปลา 2 สัปดาห์ก่อนการรักษา
2. งดรับประทานไทรอยด์ฮอร์โมน 4 สัปดาห์ก่อนการรักษา
3. มาตรวจตามนัด แพทย์จะประเมินความพร้อมของการรักษา และจะรับท่านเข้าทำการรักษาที่ตึกนิมมานเหมินทร์-ชุติมา
4. แจ้งโรคประจำตัวอื่นที่เป็นอยู่ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น พร้อมนำยาที่รักษาอยู่มา เพื่อแพทย์จะให้การรักษาที่ถูกต้อง
5. หากมีประวัติได้รับสารทึบแสงจากการตรวจวินิจฉัยด้วยเอ็กซเรย์ภายในระยะ 2 เดือน ให้แจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
6. ไม่ควรนำญาติที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือหญิงตั้งครรภ์มาด้วย ในวันที่รับการรักษาด้วยรังสีไอโอดีน-131
ขั้นตอนการรับประทานสารรังสีไอโอดีน-131
1. ผู้ป่วยจะได้รับคำอธิบายวิธีการรับประทานสารรังสีไอโอดีน-131 และการปฏิบัติตัวในขณะพักรักษาในโรงพยาบาล
2. ผู้ป่วยรับประทานสารรังสีไอโอดีน-131แคปซูลที่เตรียมให้ ตามวิธีที่ได้รับคำแนะนำ
3. ให้ผู้ป่วยนำขวดน้ำอย่างน้อย 6 ขวดและแก้วน้ำวางไว้ข้างเตียง ให้ดื่มน้ำที่เตรียมไว้บ่อยๆจนหมดภายใน 3 ชั่วโมง
4. เจ้าหน้าที่จะทำการวัดปริมานรังสีรอบๆหอผู้ป่วย ขอให้ผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียงจนกว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติงานเสร็จ
การปฏิบัติตัวขณะพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
1. ผู้ป่วยต้องนอนอยู่บนเตียงใน 24 ชั่วโมงแรกหลังรับประทานสารรังสีไอโอดีน-131 และห้ามออกจากห้องพักที่จัดเตรียมไว้
2. เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยจะไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยม เพราะท่านมีรังสีในตัว สามารถแผ่รังสีให้กับผู้อื่นได้
3. ก่อนและหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง ต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำมากๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของสารรังสีไอโอดีน-131 ที่ขับออกมาทางเหงื่อ
4. รับประทานอาหารอาหารและยาตามที่เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยจัดให้เท่านั้น และเมื่อรับประทานอาหารและยาเสร็จให้ทำความสะอาดภาชนะ จัดเก็บเศษอาหารตามวิธีการที่แนะนำ และทิ้งลงในถังทีจัดเตรียมให้
5. ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อช่วยเร่งการขับถ่ายสารรังสีไอโอดีน-131 ออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด
6. อาบน้ำ สระผมอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อชำระสารรังสีที่ขับออกทางผิวหนัง
7. ระมัดระวังการเปรอะเปื้อนในการขับถ่าย ดูแลรักษาความสะอาดห้องน้ำเป็นพิเศษ เพราะสารรังสีจะขับออกทางปัสสาวะ อุจจาระ กดชักโครกเพียง 1 ครั้งหลังการใช้ และตรวจสอบความเรียบร้อย ดูแลไม่ให้ห้องน้ำเปียกเลอะ
8. สวมรองเท้าที่จัดเตรียมไว้ทุกครั้งที่ลงจากเตียง ห้ามเดินเท้าเปล่า
9. ทิ้งเสื้อผ้าที่ใช้แล้วในถุงผ้าเปื้อนที่จัดเตรียมให้
10. ขยะที่สัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย อาเจียน ปัสสาวะ และอุจจาระ ต้องทิ้งลงถังขยะตะกั่วเท่านั้น
11. ผู้ป่วยสามารถติดต่อกับพยาบาลประจำหอผู้ป่วยได้ตลอดเวลา โดยการกดออดที่หัวเตียง
การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน
1. เน้นย้ำกับญาติที่มารับ ไม่ให้นำญาติที่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์มาด้วย
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นอย่างน้อย 1 อาทิตย์หลังวันกลืนแร่ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์
• ควรเดินทางกลับด้วยรถส่วนตัว ให้นั่งเบาะหลังตรงข้ามกับคนขับโดยไม่มีผู้อื่นนั่งข้าง หรือถ้าต้องเดินทางกลับด้วยรถโดยสารประจำทาง ควรเลือกที่นั่งแถวหน้าสุด และอยู่คนละด้านกับคนขับ
• กรณีผู้ป่วยที่ต้องทำงานนอกบ้าน ควรหยุดงาน
• แยกห้องนอน หรือนอนห่างผู้อื่นอย่างน้อย 3 เมตร
• แยกและทำความสะอาดของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า จาน แก้วน้ำ ช้อน ส้อม จากคนในครอบครัว
• ดูแลรักษาความสะอาดห้องน้ำ โดยให้ราดน้ำเยอะๆ หรือกดชักโครก 2 ครั้ง และใช้ทิชชูชุบน้ำเช็ดที่รองนั่งหลังจากใช้ห้องน้ำ รวมถึงน้ำมูก น้ำลาย อาเจียน ให้ทิ้งลงชักโครกและกดล้างน้ำหลายๆครั้ง
• งดการกอดจูบและมีเพศสัมพันธ์ และคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี หรือถ้าต้องการมีบุตรเร็วกว่านี้ควรปรึกษาแพทย์
3. ล้างมือด้วยสบู่ และน้ำมากๆ ก่อนและหลังรับประทานอาหารและหลังการขับถ่ายทุกครั้ง
4. รับประทานยาไทรอยด์ตามแพทย์สั่ง
5. งดออกกำลังกายหักโหม หรือทำงานหนัก 1 อาทิตย์
6. ถ้ามีอาการไม่สบายที่แตกต่างจากก่อนการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน 131 ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์
7. มาตรวจให้ตรงตามวันที่และเวลาที่นัดหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อประผลโยชน์ของผู้ป่วยเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์ศรีพัฒน์