สำนักข่าวบีบีซีออนไลน์รายงานผลการวิจัยอันใหม่ ซึ่งพบว่าการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างหนักคือใช้เป็นเวลาติดต่อกันนานๆ ในระหว่างวันมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งที่ต่อมน้ำลายที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้เป็นการวิจัยที่ศึกษาในประชากรตัวอย่างที่เป็นชาวอิสราเอลจำนวนทั้งสิ้น 500 คนซึ่งทั้งหมดพบว่ามีอาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำลายโดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้เทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งเป็นคนที่มีสุขภาพปกติจำนวน 1,300 คน
ผลการวิจัยอันนี้พบว่าคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือในลักษณะของการเอาเครื่องโทรศัพท์นาบไว้กับหูข้างใดขางหนึ่งเป็นเวลารวมกันหลายชั่วโมงต่อวันมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำหลายสูงกว่าปกติถึง 50% ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารด้านระบาดวิทยาของอเมริกา The American Journal of Epidemiology
โดยก่อนหน้านี้ก็มีการวิจัยหลายอันที่พยายามศึกษาถึงความสัมพันธ์กันระหว่างความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกับพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือและมีหลายการวิจัยที่เดียวที่สรุปออกมาว่าไม่พบว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งที่สัมพันธ์กับการใช้โทรศัพท์มือถือ
แต่ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย เทล อาวิบ ซึ่งทำการวิจัยล่าสุดนี้วิเคราะห์ว่าเหตุที่การวิจัยก่อนหน้านี้หลายอันไม่พบว่าการโทรศัพท์มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคมะเร็งนั้นก็เพราะว่าการวิจัยเหล่านั้นมักมุ่งศึกษาไปที่เนื้องอกหรือมะเร็งในสมองและมักจะไม่ได้ศึกษากันถึงผลในระยะเวลาที่ยาวพอ สำหรับมะเร็งต่อมน้ำลายนั้นเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้ค่อนข้างน้อยมาก ยกตัวอย่างสถิติในประเทศอังกฤษพบว่าจากจำนวนคนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งประมาณ 230,000 คนต่อปีมีเพียงจำนวน 550 คนเท่านั้นที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย
ดร.ซีกัล ซาเดทซกี ซึ่งเป็นหนัวหน้าทีมนักวิจัยจากประเทศอิสราเอลกล่าวว่าการใช้โทรศัพท์มือถือของคนในประเทศอิสราเอลนั้นถือว่าใช้กันในลักษณะที่หนักกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศอื่นๆ เป็นอย่างมากฉะนั้นผลการวิจัยนี้จึงน่าจะเป็นข้อมูลที่แสดงได้ให้เห็นถึงผลที่อาจจะเกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือในระยะยาวได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาอื่นๆ แล้วพบว่าปริมาณการถูกสัมผัสกับคลื่นความถี่วิทยุของกลุ่มตัวอย่างที่เราศึกษานั้นมีปริมาณที่สูงกว่ามากทีเดียว จึงน่าจะกล่าวได้ว่านี่คือผลที่เกิดจากใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่เร่งเวลามาให้ดูกันในประอิสราเอล
ดร.ซาเดทซกี กล่าว และข้อสังเกตประการหนึ่งที่ทีมนักวิจัยจากประเทศอิสราเอลพบก็คือคนที่ใช้โทรศัพท์มือถืออย่างหนักซึ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำลายที่สูงกว่าผู้ใช้ที่ใช้มือถือในปริมาณที่พอๆ กันแต่อาศัยอยู่ในเขตเมือง นั่นเป็นเพราะว่าในเขตชนบทนั้นเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ไม่ดีเท่าในเมืองทำให้โทรศัพท์ที่ใช้ต้องปล่อยคลื่นความถี่ที่สูงกว่าที่ใช้กันในเมือง อย่างไรก็ดีดร.ซาเดทซกี กล่าวว่า การศึกษาเพียงการศึกษาเดียวก็ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอที่จะฟันธงลงไปว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำลายหรือเปล่าฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการทำการวิจัยเพิ่มอีกเพื่อพิสูจน์สิ่งที่การวิจัยนี้ได้ค้นพบที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ขอขอบคุณข้อมูล:sanook.com