กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นอวัยวะที่มีน้ำย่อยและกรดที่เข้มข้น สำหรับใช้ในการย่อยอาหาร ดังนั้น ผนังของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงต้องมีกลไกในการปรับสภาพให้ทนต่อกรดและน้ำย่อย จึงไม่ทำให้เกิดแผลในภาวะปกติ
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบและแผลในกระเพาะอาหาร
1. เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า เอช.ไพโลไร (H.pylori) ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังหรืออาจเกิดแผล
ในกระเพาะอาหารได้ (Chronic gastritis and/or peptic ulcer)
2. ยาแก้ปวดข้อและกระดูก หรือยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs ซึ่งจะทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผลได้ หากมีการใช้ยากลุ่มนี้ยาจะไปทำลายชั้นผิวของกระเพาะอาหารเช่นกัน
3. การดื่มสุรา สูบบุหรี่ และรับประทานอาหารรสจัดบ่อยๆจะทำให้เกิดการกัดกร่อนทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก เนื่องจากจะทำให้มีกรดในกระเพาะมากกว่าปกติ
4. ความเครียดก็เป็นสาเหตุให้เกิดการกระตุ้น ให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้
อาการ
• ปวดจุกแน่นท้องที่บริเวณลิ้นปี่ หรือแสบท้อง ท้องอืด มีลมในท้องมาก เรอบ่อย หรือแน่นขึ้นไปที่หน้าอก
• คลื่นไส้ อาเจียน (ในกรณี ที่มีอาการมากขึ้น และไม่ได้รับการรักษา)
• อาการปวดอาจสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น หิวแล้วปวด หรืออิ่มแล้วปวด บางรายมีอาการปวดแสบท้องตอนกลางคืนบ่อยๆ
• อาการแทรกซ้อน จากแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ถ่ายอุจจาระมีสีดำ อาเจียนเป็นเลือด การรั่วทะลุของกระเพาะอาหารหรือลำไส้
• เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
• มีอาการเหมือนอาหารไม่ย่อย ท้องอืดมาก รู้สึกอิ่มตลอด รับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติ
การรักษาด้วยยา
• Antacid เป็นยาตัวแรกที่ใช้มานาน เพื่อลดอาการที่เกิดขึ้น และป้องกันการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร โดยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารสามารถทานยาได้ตลอดเวลา ออกฤทธิ์ระยะสั้น
• Histamine receptor antagonists โดยจะช่วยยับยั้งการหลั่งกรด การรักษาด้วยยานี้จะได้ผลเมื่อใช้นานประมาณ 1 เดือน
• Proton pump inhibitors เป็นยาที่นิยมใช้ในปัจจุบันแต่มีราคาที่ค่อนข้างแพง มีฤทธิ์ยับยั้งการผลิตกรดและช่วยให้แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้นหายได้เร็วขึ้น
• Mucosal protective agents มีผลในการเคลือบแผลทำให้หายได้เร็วขึ้น ไม่ให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุทางเดินอาหาร
• การรักษา H.pylori เมื่อมีการตรวจพบจะพิจารณาให้ยาตามแผนการรักษาของแพทย์
การปฏิบัติตัว
• รับประทานอาหารอ่อนครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้งได้เคี้ยวอาหารให้ช้าๆและเคี้ยวให้ละเอียด
• รับประทานอาหารระหว่างมื้อ แต่ไม่ควรรับประทานอาหารแล้วนอนทันที เพราะเพิ่มการหลั่งกรดในช่วงกลางคืน
• หลีกเลี่ยงการดื่มนม เพราะอาจทำให้เกิดอาการแน่นท้องหรือมีลมในกระเพาะอาหารมาก
• งดหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ – การดื่ม Alcohol ลดภาวะเครียด
ขอขอบคุณ:vibhavadi.com