โรคผิวหนัง

โรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม

Views

ในขณะนี้เรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจ ทันสมัยและส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของชาวกทม.รวมทั้งอีกหลายๆ จังหวัดคงหนีไม่พ้นเรื่องน้ำท่วม  ปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ที่ต้องผจญกับภาวะน้ำท่วมเรื้อรังและส่งผลกระทบถึงสุขภาพได้แก่ โรคผิวหนัง  เนื่องจากเมื่อเกิดอุทกภัย  กระแสน้ำจะพาสิ่งสกปรก  สารเคมี  รวมถึงเชื้อโรคต่างๆ ให้แพร่กระจายและปะปนอยู่ในน้ำที่ท่วมขัง  นอกจากนี้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้สัตว์ต่างๆโดยเฉพาะสัตว์จำพวกแมลงต้องหนีน้ำออกจากถิ่นที่อยู่เดิมมาอาศัยในที่แห้งร่วมกับมนุษย์มากขึ้น  จากสาเหตุดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงก่อให้เกิดโรคผิวหนังที่พบร่วมกับภาวะน้ำท่วมได้ดังนี้

1. น้ำกัดเท้า        เป็นโรคผิวหนังชนิดแรกที่จะเกิดหลังการสัมผัสน้ำสกปรกต่อเนื่องซ้ำๆ กันในสัปดาห์แรก  โดยทั่วไปเรามักเข้าใจกันว่า  โรคน้ำกัดเท้านี้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อราที่เท้า  ความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริงเสมอไปเนื่องจากจริงๆ แล้วเชื้อราต้องอาศัยระยะเวลาในการเจริญเติบโตระยะหนึ่งก่อนจะก่อโรคที่ผิวหนังได้  สาเหตุที่แท้จริงของน้ำกัดเท้าเกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังเนื่องจากความเปียกชื้นและการสัมผัสสิ่งสกปรก  สารเคมีต่างๆ ในน้ำท่วมขังทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบขึ้น  ผิวหนังจะมีลักษณะเปื่อยลอกโดยเฉพาะที่บริเวณซอกนิ้วเท้า  อาจมีอาการผื่นแดง  แสบคันร่วมด้วย

        การป้องกันการเกิดน้ำกัดเท้านั้น  ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำท่วมขัง  หากเลี่ยงไม่ได้ต้องล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันทีหลังการสัมผัสน้ำสกปรกแล้วเช็ดเท้าโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วให้แห้งอยู่เสมอ  หากมีแผลถลอกบริเวณเท้าอาจต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ  เช่น  povidone iodine ชะล้างด้วย

          หากเกิดผื่นน้ำกัดเท้าแล้ว  การรักษาเบื้องต้นคือการใช้ยาแก้คันทาบริเวณผื่น  ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรใช้ยาแก้คันที่มีส่วนผสมของยาต้านเชื้อราหากยังไม่แน่ใจการวินิจฉัยเนื่องจากอาจบดบังอาการของการติดเชื้อราระยะต้นได้  นอกจากนี้ยาจำพวกขี้ผึ้งรักษาเชื้อราจะมีฤทธิ์กัดให้ผิวหนังชั้นบนลอกออก  ซึ่งจะเพิ่มการระคายเคืองต่อผิวหนัง  ทำให้อาการแดง ลอก  แสบคันเป็นมากขึ้นได้อีกด้วย

2. การติดเชื้อที่ผิวหนัง

               การติดเชื้อแบคทีเรีย  หลังมีผื่นน้ำกัดเท้าเกิดขึ้น บริเวณที่ผิวเปื่อยลอกจะเป็นจุดที่เชื้อแบคทีเรียในน้ำสกปรกเข้าสู่ผิวหนังแล้วก่อโรคได้ง่ายขึ้น  การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังอาจเป็นการติดเชื้อในผิวหนังชั้นตื้นซึ่งจะทำให้ผิวหนังฝ่าเท้ามีลักษณะเปื่อยยุ่ยเป็นหลุมเล็กๆ  มีกลิ่นเหม็น หรืออาจเกิดเป็นตุ่มหนอง  รูขุมขนอักเสบ  หากการติดเชื้อลุกลามลงในผิวหนังชั้นลึกเกิดเป็นกลุ่มโรคจำพวกไฟลามทุ่ง ผิวหนังจะบวมแดงร้อน  กดเจ็บ และลามเร็วไปยังบริเวณใกล้เคียง  ต่อมาอาจมีไข้สูงและต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโตร่วมด้วย  โดยเฉพาะในกรณีผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่ทำให้ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง  เช่น  เบาหวาน  ตับแข็ง  โลหิตจางธาลัสซีเมีย  เป็นต้น  ในกรณีนี้การติดเชื้อมักรุนแรง  ลามเร็ว  และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้  ดังนั้นหากมีอาการของการติดเชื้อในผิวหนังชั้นลึกหรือเป็นผู้มีภาวะพร่องภูมิต้านทานดังที่กล่าวมาข้างต้น  ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงทีเนื่องจากอาจจำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือด

         ในกรณีที่มีบาดแผลจากการถูกของมีคมใต้น้ำทิ่มตำ นอกจากจะติดเชื้อแบคทีเรียแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อบาดทะยักได้  จึงต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย

        การติดเชื้อรา หากมีอาการของภาวะน้ำกัดเท้าต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ  ผิวที่เปื่อยลอกโดยเฉพาะที่บริเวณซอกนิ้วจะติดเชื้อราได้ ซึ่งจะมีอาการผื่นแดงแฉะ  มีขุยขาวลอกบริเวณซอกนิ้ว หรือเป็นชนิดผื่นหนา  เปื่อยยุ่ย  ลอกเป็นขุยทั้งที่ฝ่าเท้าและซอกนิ้ว  มีกลิ่นเหม็น   หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ฮ่องกงฟุต ซึ่งก็เกิดจากเชื้อกลากชนิดหนึ่งนั่นเอง  หากปล่อยให้การติดเชื้อราที่เท้าเป็นเรื้อรังผื่นจะหนาขึ้นเรื่อยๆและยากต่อการรักษาให้หายขาด  นอกจากนี้การติดเชื้อราที่บริเวณง่ามนิ้วเท้าจะเป็นทางที่เชื้อแบคทีเรียเข้าก่อโรคที่ผิวหนังได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

        การรักษาเชื้อราที่ผิวหนังให้ได้ผลต้องทายาฆ่าเชื้อราอย่างสม่ำเสมอและแม้ว่าอาการผื่นคันจะดีขึ้นก็ไม่ควรหยุดยาทาทันทีแต่ควรทายาต่อเนื่องไปอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยงยาทาฆ่าเชื้อโรคอื่นๆที่มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น alcohol เพราะจะทำให้ผิวแห้งคันมากขึ้น ที่สำคัญควรรักษาความสะอาดโดยพยายามให้เท้าแห้งอยู่เสมอจะช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคได้

 3. โรคผิวหนังจากแมลงและสัตว์มีพิษ

                การถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย  การถูกสัตว์มีพิษได้แก่ ตะขาบและแมงป่อง กัดต่อยทำให้มีอาการแดงอักเสบ ปวด และบวมบริเวณรอบๆรอยเขี้ยวที่ถูกกัดต่อยได้อย่างมาก ปัญหาที่ต้องระมัดระวังคือบางครั้งต้องแยกจากการถูกงูพิษกัดโดยเฉพาะหากถูกกัดต่อยในเวลากลางคืนซึ่งมองไม่เห็นชนิดของสัตว์ที่กัด

          หากถูกสัตว์เหล่านี้กัดต่อย  ควรไปพบแพทย์  แพทย์จะให้รับประทานยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน  ยาลดอาการปวดและบวม  ที่สำคัญนอกจากการอักเสบของแผลแล้ว  พิษจากสัตว์เหล่านี้อาจมีผลต่ออวัยวะภายในบางอย่าง  เช่น  ไต  ดังนั้นหากยังไม่สามารถไปพบแพทย์ได้  ผู้ถูกกัดต้องสังเกตสีและปริมาณของปัสสาวะอย่างน้อย 24 ชม.  หากปัสสาวะลดลงหรือเป็นสีแดงต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

                ผื่นแมลงกัด มักเกิดในผู้อพยพที่ต้องอาศัยนอนรวมกันที่ศูนย์โดยไม่มีมุ้งหรือเครื่องป้องกันแมลง มักเกิดจากยุงหรือหมัดกัด ลักษณะผื่นพบเป็นตุ่มนูนแดงคัน อาจพบรอยที่แมลงกัดเป็นจุดแดงเล็กๆ ที่กลางตุ่ม และอาจมีวงขาวรอบๆ พบรอยโรคเด่นที่ผิวหนังบริเวณนอกร่มผ้า การรักษาได้แก่การใช้ยาทาแก้คันร่วมกันรับประทานยาแก้แพ้แก้คัน

                ผื่นแพ้สัมผัสจากด้วงก้นกระดก ด้วงก้นกระดกเป็นแมลงขนาดเล็กลำตัวสีส้มสลับดำ มักอาศัยอยู่ตามสวนหรือในบริเวณที่มีต้นไม้มาก  ที่ลำตัวของแมลงชนิดนี้จะมีสารซึ่งสามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้หากไปสัมผัส  มักพบผื่นชนิดนี้ในคนที่ต้องขนรื้อซากต้นไม้  พุ่มไม้  หรือพักอาศัยอยู่ในสวน  ลักษณะผื่นจะเป็นปื้นแดง  แสบ  คัน  อาจมีรอยไหม้หรือตุ่มหนองเล็กๆอยู่กลางรอยโรค  รอยโรคอาจมีลักษณะเป็นทางยาวตามแนวที่แมลงบินผ่าน หรือตามรอยที่ผู้ป่วยเกา  และอาจพบผื่นรูปร่างสมมาตรที่บริเวณข้อพับ ได้บ่อย  การรักษาได้แก่การใช้ยาทาแก้คันร่วมกับการรับประทานยาแก้แพ้แก้คัน

          ในศูนย์พักพิงที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่น สุขอนามัยไม่ดี อาจมีการติดเชื้อหิด เหา ที่สามารถแพร่กระจายได้เร็ว

        ภาวะอุทกภัยและน้ำท่วมขัง  อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังหลายชนิดติดตามมา  การทำความสะอาดผิวหนังที่สัมผัสน้ำท่วมขังด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลังลุยย่ำน้ำ หลีกเลี่ยงการลุยย่ำน้ำหากมีรอยถลอกหรือบาดแผล  การระวังรักษาผิวหนังให้แห้งอยู่เสมอ  และการป้องกันการกัดต่อยจากแมลงต่างๆ  เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถลดการเกิดโรคผิวหนังต่างๆ ได้  อย่างไรก็ดีด้วยสภาพแวดล้อมที่ขาดสุขภาวะในช่วงอุทกภัยจึงหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้ยาก  การมีความรู้เกี่ยวกับโรคทางผิวหนังที่พบได้บ่อยจากน้ำท่วมและการดูแลตนเองในเบื้องต้นอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ ได้

ขอขอบคุณ:si.mahidol.ac.th

Leave a Reply