โรคร้ายโรคหนึ่งที่เราทุกคนไม่อยากจะประสบพบเจอนั่นคือ “โรคมะเร็ง” เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าโรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด 100 % และเป็นโรคร้ายอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต ดังนั้นหากป่วยเป็นโรคนี้แล้วก็ย่อมทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจอยู่ไม่น้อย
มะเร็งสามารถพบได้หลายจุดในร่างกาย เช่น ตับ ลำไส้ ผิวหนัง หรือแม้กระทั่งโพรงจมูก ซึ่งเรียกกันว่า “มะเร็งโพรงจมูก” คือโรคที่เซลล์ที่มีความผิดปกติเจริญเติบโตขึ้น ก่อให้เกิดเนื้อร้ายที่สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ บางครั้งก็ไม่ได้เป็นเนื้อร้ายเสมอไป แต่บางรายอาจเป็นแค่โรคริดสีดวงจมูกหรือเนื้องอกโพรงจมูกเท่านั้น โดยมะเร็งโพรงจมูกเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งหากจะพบก็มักจะพบได้ในผู้ชายอายุ 50 – 60 ปี
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งโพรงจมูก
สาเหตุหลักในการเกิดโรคมะเร็งโพรงจมูก คือ เซลล์ต่างๆ ในโพรงจมูกและโพรงอากาศข้างจมูกเกิดความผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งโพรงจมูกได้มีหลายประการ เช่น การสัมผัสหรือสูดดมสารเคมีที่ส่งผลให้เซลล์พัฒนาเป็นมะเร็งได้ โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ฝุ่นไม้หรือขี้เลื่อย
2. ฝุ่นหนัง
3. บุหรี่
4. ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์
5. สารประกอบนิกเกิล
6. ฟอร์มาดีไฮด์
7. โครเมียม
8. ฝุ่นจากสิ่งทอ
อาการของโรคมะเร็งโพรงจมูก
โรคมะเร็งโพรงจมูกจะปรากฏอาการในช่วงแรกๆ แต่อาการอาจปรากฏออกมาเมื่อมะเร็งเจริญเติบโตไปรอบๆ หรือใหญ่จนปิดกั้นโพรงจมูกแล้ว อาการทั่วไปที่พบได้บ่อยคือ คัดจมูกหรือมีน้ำมูกไหลข้างเดียวทั้งที่ไม่ได้เป็นหวัดหรือเป็นภูมิแพ้ อาการจะคงอยู่นานและแย่ลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ดังนี้
1. เลือดกำเดาไหล
2. น้ำมูกไหลหรือระบายจากด้านหลังของจมูกเข้าไปในลำคอ
3. มีก้อนแข็งบนใบหน้า เพดานปากหรือภายในจมูก
4. ปวดหัวและปวดโพรงอากาศข้างจมูก
5. ปวดหูหรือรู้สึกหูอื้อข้างใดข้างหนึ่ง
6. ปวดบริเวณเหนือดวงตาหรือใต้ดวงตา
7. ตาแฉะมากจนน้ำตาไหล
8. ตาข้างใดข้างหนึ่งโป่งนูน
9. ชา ปวดและบวมบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะแก้มส่วนบน
10. มีปัญหาเวลาอ้าปาก
11. ฟันบนโยกหรือชา
12. ลักษณะการพูดเปลี่ยนไปจากเดิม
13. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบคอบวม
14. สูญเสียการได้ยินหรือการได้กลิ่น
การวินิจฉัยโรคมะเร็งโพรงจมูก
การจะวินิจฉัยโรคมะเร็งโพรงจมูกนั้นต้องใช้เวลานาน และต้องวินิจฉัยหลายครั้ง เพื่อหาระยะและระดับความรุนแรงของมะเร็ง แพทย์อาจซักถามอาการและตรวจร่างกายผู้ป่วยในเบื้องต้น ผู้ป่วยอาจถูกส่งไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการทดสอบเพื่อยืนยันการวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งกระบวนการวินิจฉัยมีดังนี้
1. การซักประวัติและตรวจร่างกาย ในขั้นตอนนี้แพทย์จะถามถึงระยะเวลาที่เป็นหรืออาการที่แสดง รวมไปถึงการซักถามอาชีพหรือพฤติกรรมการบริโภคสุราและบุหรี่ ในการตรวจร่างกายจะแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการเกิดโรคมะเร็งโพรงจมูก และแพทย์จะมองหาลักษณะของก้อนแข็งหรืออาการบวมบริเวณจมูก แก้ม ดวงตา และภายในปาก อาจมีการส่องกล้องตรวจบริเวณด้านหลังของจมูกเพื่อดูการทำงานของสมอง กระดูกสันหลัง และเส้นประสาท
2. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง (CBC) เป็นการตรวจวัดจำนวนและคุณภาพของเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด แพทย์จะใช้วิธีนี้เป็นค่าวัดพื้นฐานที่นำมาเปรียบเทียบจำนวนเม็ดเลือดระหว่างการรักษาและหลังการรักษา
3. การตรวจสารเคมีในเลือด การตรวจนี้จะแสดงประสิทธิภาพในการทำงานของอวัยวะบางชิ้น เช่น ตับ โดยจะวัดค่าสารเคมีบางอย่างในเลือด นอกจากนี้ยังช่วยหาความผิดปกติจากการแพร่กระจายของมะเร็งในส่วนอื่นๆ ของร่างกายผู้ป่วยได้อีกด้วย
4. การตรวจโดยใช้กล้องส่อง แพทย์จะใช้กล้องส่องตรวจเข้าไปบริเวณจมูก โพรงหลังจมูกและส่วนล่างของลำคอ อาจมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไว้ด้วย ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียง เช่น มีอาการปวด เลือดไหล หรือผนังเนื้อเยื่อฉีกขาด เป็นต้น
5. การเจาะดูดเซลล์ไปตรวจ (Fine Needle Aspiration) เป็นวิธีการเก็บตัวอย่างเนื้องอก โดยแพทย์จะใช้เข็มที่เล็กมาก ๆ พร้อมกับกระบอกฉีดยานำของเหลวหรือเนื้อเยื่อออกมาเพียงเล็กน้อยเพื่อนำไปตรวจ
6. การตัดเนื้อตรวจ (Biopsy) วิธีการนี้แพทย์จะกำจัดเนื้อเยื่อตัวอย่างออกจากร่างกายของผู้ป่วยเพื่อนำไปตรวจ ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียง เช่น อาการปวดหรือติดเชื้อบริเวณที่เนื้อเยื่อถูกกำจัดออกไป
7. ทำซีทีสแกน เป็นการใช้วิธีการแพร่กระจายเข้ามาเพื่อตรวจ โดยแพทย์จะฉีดสีที่เรียกว่าสารทึบรังสีเข้าไปในเส้นเลือดของผู้ป่วยก่อนที่จะทำซีทีสแกน เพื่อช่วยให้เห็นโครงสร้างต่างๆ ชัดเจนขึ้น
8. การเอกซเรย์ วิธีการนี้จะใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที หรืออาจนานกว่านั้น ผลภาพเอกซเรย์ใช้ตรวจหาการอุดตันหรือการติดเชื้อในโพรงอากาศข้างจมูก สามารถตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งสู่ปอด แต่วิธีนี้อาจไม่ละเอียดเท่าการทำซีทีสแกน
9. การทำเอ็มอาร์ไอ วิธีนี้จะใช้เวลาโดยประมาณ 30 – 50 นาที หรืออาจนานถึงสองชั่วโมงขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตรวจหา วิธีนี้จะระบุว่าเนื้องอกเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ รวมทั้งใช้หาการเจริญเติบโตของเนื้องอกสู่โครงสร้างต่างๆ รอบๆ โพรงอากาศข้างจมูก เช่น ฐานกะโหลก เยื่อหุ้มสมอง และดวงตา เป็นต้น
10. การสแกนกระดูก แพทย์จะซักถามประวัติการทำศัลยกรรมกระดูกก่อน หลังจากร่างกายซึมซับสารเภสัชรังสี การสแกนกระดูกจะใช้เวลาประมาณ 30 – 60 นาที เพื่อหาการกระจายของมะเร็งโพรงจมูกสู่กระดูก
11. การทำเพทสแกน (PET scan) เป็นวิธีที่ดูการทำงานของเซลล์มะเร็ง ใช้เวลาในการทำเพทสแกนตั้งแต่ 45 นาทีถึง 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าทำแค่เฉพาะส่วนหรือทั้งร่างกาย สีหรือความสว่างของภาพ PET จะแสดงถึงระดับของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่แตกต่างกัน
การรักษาโรคมะเร็งโพรงจมูก
การรักษาโรคมะเร็งโพรงจมูกต้องพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย เช่น ระยะ ระดับความรุนแรง ตำแหน่ง หรือสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ถึงเฉพาะทาง เพราะการรักษามะเร็งโพรงจมูกสามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนี้
1. การผ่าตัด การผ่าตัดมะเร็งโพรงจมูกทำได้ทั้งผ่าตัดแบบเปิดและผ่าตัดแบบส่องกล้อง มักทำในระยะแรกๆ ที่เซลล์มะเร็งยังกระจายตัวไม่มากนัก การผ่าตัดใช้เพื่อลดอาการปวดหรืออาการต่างๆ โดยการกำจัดเนื้องอกที่ขัดบริเวณโพรงจมูกและโพรงอากาศของจมูกออกไป รวมถึงการกำจัดเอาเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบๆ ออกไปด้วยในบางกรณี
2. การบำบัดด้วยรังสี (Radiation Therapy) เป็นการรักษาโดยใช้รังสีพลังงานสูงในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ลดขนาดของเนื้องอกก่อนการผ่าตัด หรือทำลายเนื้องอกขนาดเล็กๆ ที่หลงเหลือจากการผ่าตัด
3. การใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy) ใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาของมะเร็งหลังผ่าตัด โดยจะช่วยลดขนาดหรือชะลอการเติบโตของเนื้องอก
การใช้เคมีบำบัดและการบำบัดด้วยรังสีเป็นวิธีการรักษาเสริมจากการผ่าตัด วิธีการรักษาทั้งสองนี้ถูกนำมาใช้เป็นการรักษาแบบประคองผู้ป่วยในกรณีที่ไม่สามารถรักษาได้แล้ว เป้าหมายคือการกำจัดเนื้อร้ายออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เนื้องอกเติบโต แพร่กระจายหรือกลับมาอีก
หลังการรักษาได้สิ้นสุดลงแล้ว ผู้ป่วยอาจมีความกังวลว่าจะกลับมาเป็นมะเร็งอีก หรือผู้ป่วยบางรายก็ไม่สามารถกำจัดเนื้อร้ายออกได้อย่างสมบูรณ์ แต่ทางที่ดีที่สุดคือ ผู้ป่วยต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็ง และผู้ป่วยควรทำให้สุขภาพนั้นดีขึ้นโดยวิธีต่างๆ เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น
มะเร็งโพรงจมูก เป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูงต่อการกลับมาเป็นอีกครั้ง แพทย์จึงต้องเฝ้าติดตามและสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยที่รักษาโดยรังสีรักษาหรือเคมีบำบัดอาจมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง เช่น ปากแห้ง ฟันร่วง ผมร่วง เป็นต้น หลังจากที่การรักษาเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ในทันทีเพื่อให้แพทย์
ทำการทดสอบหาการกลับมาของมะเร็งต่อไป
การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งโพรงจมูก
ผู้ป่วยโรคมะเร็งโพรงจมูกส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงในการเกิด ทำให้ไม่สามารถป้องกันมะเร็งโพรงจมูกได้ทั้งหมด วิธีป้องกันเบื้องต้นคือ พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ แต่หากต้องทำงานในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์หรือสถานที่ทำงานอื่นๆ ที่อาจมีการสัมผัสหรือสูดดมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรหาแนวทางป้องกันตัวเอง เช่น การสวมหน้ากากอนามัย จะช่วยลดโอกาสในการสัมผัสหรือสูดดมสารอันตรายเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นหากเราเป็นบุคคลหนึ่งที่รู้ตัวว่ามีความเสี่ยงในการที่จะเป็น “โรคมะเร็งโพรงจมูก” ควรรีบป้องกันตนเอง เพราะสำหรับโรคนี้แล้ววิธีการป้องกันถือว่ามีความสำคัญมากกว่าการรักษา
ขอขอบคุณข้อมูล:sukkaphap-d.com