ช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาดในประเทศไทย ด้วยมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” (Social Distancing) และ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดชะงักเกือบทั้งหมด ลูกจ้างและนายจ้างต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า จนรัฐบาลต้องมีมาตรการพยุงปีกบรรดาลูกจ้างและกิจการที่ได้รับผลกระทบออกมานับแสนล้านบาท แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา วิกฤตย่อมมีโอกาสแทรกอยู่เสมอ เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านคู่กันตลอดทุกยุคสมัย วิกฤตโลกาภิวัตน์ทางไวรัส หรือ ‘โลกาไวรัส’ นี้ กลับส่งเสริมธุรกิจบางประเภทให้เฟื่องฟูหรือกลับมาบูมอีกครั้ง 10 ประเภท ดังนี้
1.ธุรกิจรับส่งอาหาร / สินค้า
เนื่องจากการต้องปฏิบัติตามนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้ผู้คนที่ยังติดใจรสชาติอาหารระดับพรีเมี่ยมจากร้านยอดนิยมต่างๆ จึงยังมีพฤติกรรมอยากลิ้มลองยามอยู่บ้าน ตลอดจนต้องแก้เหงาแก้เบื่อด้วยการช็อปปิ้งสั่งสินค้าออนไลน์ ส่งผลให้การบริการรับส่งอาหาร/สินค้าจึงบูมอย่างยิ่งในช่วงนี้
2.ร้านสินค้าออนไลน์
เป็นหนึ่งวิธีที่แก้ขัดยามถูกมาตรการปิดห้างสรรพสินค้า ร้านรวงต่างๆ ขณะที่ความต้องการสิ่งของจำเป็นหรือเพื่อนันทนาการทางใจยังจำเป็นอยู่ ธุรกิจขายสินค้าออนไลน์จึงยอดนิยมเป็นอย่างมาก
3.อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน
การ work from home (WFH) ทำให้พ่อบ้านแม่บ้านมีช่วงเวลาอยู่บ้านยาวนานที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จึงมักจะเห็นสิ่งบกพร่องที่บ้านเรายังขาดอยู่หรือบางรายมีภาพทัศน์สร้างสรรค์ในการปรับปรุงบ้านให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น และด้วยเทคโนโลยีไอทีผ่านร้านสินค้าออนไลน์ ทำให้การตกแต่งบ้านเป็นไปได้โดยง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส
4.เอ็นเตอร์เทนเมนท์ออนไลน์&ทีวีดิจิทัล
คงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะ WFH ตลอดเวลา ดังนั้นการผ่อนคลายในบางเวลาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และยังช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นด้วย วิธีผ่อนคลายขณะอยู่บ้านจึงมีเพียงไม่กี่วิธี ที่ง่ายและสะดวกที่สุดคือการที่คุณพ่อบ้านแม่บ้านดูหนังดูรายการทีวีนั่นเอง ทำให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลและสตรีมมิ่ง (streaming) อย่าง Netflix จึงเฟื่องฟู
5.แอพพลิเคชันทำงาน
การเรียนการสอนออนไลน์ การทำงานออนไลน์ การประชุมปรึกษาหารืองานออนไลน์ เป็นภาคบังคับของวิถีชีวิตที่ต้องทำช่วงหลบเลี่ยงภัยโควิด-19 โปรแกรมหรือแอพพลิเคชันที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการทำงานดังกล่าวจึงเป็นเสมือนอีกปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นขณะนี้ บรรดาเจ้าของแอพพลิเคชันต่างๆ จึงรับทรัพย์ไปเต็มๆ เช่น แอพพลิเคชันซูม (zoom) , Chrome Remote Desktop , Spark เป็นต้น
6.กฟน.&กฟภ. รายรับค่าไฟฟ้าเพิ่ม
แม้จะมีมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนจากภัยโควิด-19 แต่ต้องยอมรับว่ามาตรการ WFH ทำให้ผู้คนถูกตรึงไว้ที่บ้านเกือบตลอดเวลา ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจึงย่อมมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้อุปกรณ์ไอทีในการทำงาน การเปิดแอร์บรรเทาความร้อน ฯลฯ เป็นไปในลักษณะบ้านใครบ้านคนนั้น ซึ่งต่างจากการทำงานในบริษัทที่ใช้ไฟฟ้าสำหรับการทำงานของผู้คนที่อยู่ด้วยกันในที่เดียว ซึ่งย่อมประหยัดกว่า (economy of scale) ที่สำคัญปริมาณบ้านทั้งประเทศย่อมมากกว่าปริมาณตึกอาคารบริษัท ดังนั้นปริมาณการใช้ไฟฟ้าจึงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
7.อาหารแพ็คสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อ
ด้วยความจำกัดในการจัดหาอาหาร แม้ว่าตลาดสดจะไม่ปิดก็ตาม แต่กลายเป็นว่าปัจจุบันร้านสะดวกซื้อได้กระจายตั้งอยู่ในทุกหย่อมหญ้าใกล้บ้านกว่าตลาดสด การไม่อยากออกไปที่ใดไกลบ้านมากนัก จึงส่งผลให้ปริมาณความต้องการซื้ออาหารแพ็คสำเร็จรูปเพื่อการบริโภคในครัวเรือนยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นในขณะนี้
8.ร้านโชห่วยละแวกบ้าน
แน่นอนว่าแม้ร้านสะดวกซื้อมีอยู่จำนวนมาก แต่ด้วยจำนวนผู้คนที่อยู่บ้านมีเหลือคณานับในช่วงนี้ ทำให้ทางเลือกอื่นๆ ในการซื้อของละแวกบ้านเพื่อรองรับผู้คนให้เพียงพอในการจับจ่ายใช้สอยอย่างร้านโชห่วยในตำนานประจำถิ่นย่อมเป็นที่สนใจแวะเวียนบ่อยๆ จึงได้รับผลพลอยได้จากมาตรการ WFH ไปด้วย
9.อุปกรณ์ออกกำลังกาย
เมื่ออยู่บ้านระยะเวลานาน กอปรกับการหลีกเลี่ยงการออกกำลังกลางแจ้ง เพื่อลดภาวะการสุ่มเสี่ยงติดเชื้อ แต่ร่างกายยังต้องการการผ่อนคลาย และยังเป็นวิธีแก้ความเบื่อเหงาเพิ่มเติม การออกกำลังกายในบริเวณบ้านของตนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยอุปกรณ์การออกกำลังกายที่ไม่ซ้ำซากจำเจและเป็นทางเลือกใหม่ ผู้คนเจนเรอเนชั่นใหม่จึงหันมาใช้อุปกรณ์ออกกำลังที่ทันสมัยมากกว่าเดิม ธุรกิจเครื่องออกกำลังกายจึงมีโอกาสทำกำไรในช่วงนี้
10.ธุรกิจทำความสะอาด
ความวิตกกังวลในเชื้อร้ายโควิด-19 เกิดขึ้นทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ระบบขนส่งสาธารณะ ร้านรวงต่างๆ บ้านพักอาศัย สถานที่สำคัญ จึงทำให้ต้องหมั่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อกันขนานใหญ่ และจำเป็นต้องใช้มืออาชีพที่มีอุปกรณ์ครบครัน ธุรกิจรับทำความสะอาดอย่างครบวงจรจึงมีงานอย่างไม่ขาดมือ
แม้ว่าสังคมจะเงียบเหงาซบเซาด้วยมหันตภัยโควิด-19 แต่โลกาไวรัสตัวนี้กลับทำให้อีกมุมหนึ่งของธุรกิจทางเลือกคึกคักขึ้นมาทันตาเห็น จนอาจกล่าวได้ว่าหรือนี่จะเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสของบางอาชีพก็เป็นได้
ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และประธาน ทปสท.
ขอบคุณที่มา https://siamrath.co.th/n/144467