โควิด-19

โควิด-19 : ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงต่อเนื่อง 5 วันติดต่อกัน ติดเชื้อเพิ่ม 28 ราย เสียชีวิต 2 ราย

Views

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ในประเทศไทย วันนี้ (13 เม.ย.) มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 28 ราย ในกรุงเทพฯ มากสุด 12 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย

ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่ ศบค.แถลงในวันนี้ มีจำนวนลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นวันที่ห้า นับตั้งแต่วันที่ตัวเลขพุ่งสูงขึ้นเมื่อวันที่ 8 เม.ย. อันมีปัจจัยจากกลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากอินโดนีเซีย ซึ่งในกลุ่มนี้มีผู้ป่วยสะสมรวมแล้ว 61 ราย

ตัวเลขที่เพิ่มเติมขึ้นมา ทำให้ประเทศไทยมียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมจนถึงวันนี้ (13 เม.ย.) 2,579 ราย รักษาหายแล้ว 1,288 ราย เสียชีวิตสะสมรวม 40 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ให้รายละเอียดของผู้เสียชีวิตรายที่ 39 เป็นชายไทย อายุ 56 ปี มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนใน จ.สมุทรปราการ ด้วยอาการไข้ ไอ หอบ เหนื่อย เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยเป็นไข้หวัดและสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ต่อมาส่งตรวจโควิด-19 พบติดเชื้อ ก่อนที่จะอาการหนักและเสียชีวิต

คนงานImage copyrightGETTY IMAGES

ผู้เสียชีวิตรายที่ 40 เป็นชายไทย อายุ 43 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เป็นโรคเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง และความดันในเลือดสูง เริ่มป่วยด้วยไข้สูง ไอ น้ำมูก เหนื่อย ถ่ายเหลว ก่อนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ เป็นผู้ป่วยนอก แต่อาการไม่ดีขึ้นจึงเข้ารับการรักษาใหม่ แพทย์วินิจฉัยว่าปอดติดเชื้อก่อนยืนยันเป็นโควิด-19

สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19

ติดเชื้อ: 2,579 เสียชีวิต: 40 หายแล้ว: 1,288

 
ที่มา: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 13 เม.ย. 2563

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยืนยันวันนี้มีทั้งหมด 28 ราย แบ่งเป็นกลุ่มดังนี้

กลุ่ม 1 ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า 25 ราย

  • สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 18 ราย ซึ่งกว่า 9 รายอยู่ในกรุงเทพฯ

กลุ่ม 2 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย

  • คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย
  • ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 ราย
  • บุคลากรทางการแพทย์ 3 ราย
  • อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในที่แออัด ใกล้ชิดกับคนต่างชาติ 2 ราย
  • กลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (อินโดนีเซีย) และเข้าสู่การกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด รวม 3 ราย ได้แก่ ที่ จ.สตูล 2 คน และ จ.ยะลา 1 คน

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันในช่วง 2 สัปดาห์ล่าสุด กลุ่มก้อนที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ ผู้ป่วยที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 441 ราย คนไทยที่กลับจากต่างประเทศ 145 ราย กลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด 104 ราย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 55 ราย เป็นต้น

ภาพประกอบImage copyrightAFP/GETTY IMAGES

ผ่อนคลายมาตรการเมื่อไหร่

โฆษก ศบค. กล่าวว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ในวันนี้ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้มีการหารือเรื่องการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ที่ประชุมเห็นว่า การผ่อนคลายมาตรการจะเกิดขึ้นเมื่อมีความมั่นใจต่อตัวเลขต่าง ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขรายงาน โดยมีเงื่อนไขว่าตัวเลขลดลงในแต่ละด้าน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการพูดคุยในคณะกรรมการวิชาการเพื่อเตรียมข้อมูลต่าง ๆ โดยต้องให้มีมั่นใจที่สุดจึงจะมีมาตรการผ่อนคลายออกมา

ถอดบทเรียนภูเก็ต : “ตรวจในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเฉพาะเจาะจง”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงกรณี จ.ภูเก็ต ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 176 ราย ภายในเวลาไม่ถึงสองเดือนนับตั้งแต่เจอผู้ป่วยครั้งแรกในวันที่ 26 ม.ค. และตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ได้มีการใช้กระบวนการ “ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก” ในพื้นเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ซึ่งตรวจพบผู้ป่วยเพิ่มจากวิธีการนี้หลายสิบคนจากสถิติพบว่า กลุ่มผู้ติดเชื้อหลักมาจากกลุ่มสถานบันเทิงมากที่สุด 71 คน รองลงมาเป็นกลุ่มที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 33 คน และกลุ่มที่ประกอบอาชีพเสี่ยง อีก 33 คน

โฆษก ศบค. ชี้ว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ ร้อยละ 27.73 หรือกว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมดในจังหวัด มาเข้ารับการรักษาช้า จึงมีโอกาสที่เป็น “พาหะ” ในพื้นที่ได้มาก นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้ป่วยยังคงเพิ่มสูงต่อเนื่อง

“ถ้าท่านยิ่งมาช้า มีโอกาสที่ท่านจะเป็นพาหะนำโรคไปติดคนอื่น…นี่คือความรุนแรงของโรคตัวนี้”

นพ.ทวีศิลป์ ยังชี้ให้เห็นถึงลักษณะการติดต่อของโรคว่า “กลุ่มอาชีพเสี่ยงที่ติดเชื้อ กลุ่มสัมผัสกับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ เป็นสองกลุ่มก้อนใหญ่ และที่ยังระบุไม่ได้อีกมาก เพราะฉะนั้นคงเป็นลักษณะของการติดต่อกันไปภายในตัวจังหวัด”

จ.ภูเก็ต มีผู้ที่ได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการกว่า 2,000 ราย แต่ยอดของผู้ติดเชื้อที่พบไม่ได้มากตามจำนวนที่ตรววจ แต่การตรวจที่สามารถจับผู้ป่วยได้มากเกิดจากการเจาะจงพื้นที่เสี่ยงเป็นหลัก อย่างกรณีที่โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เชิงทะเล อ.ถลาง ตรวจ 103 ราย พบผู้ป่วย 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.85

ระหว่างการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงว่านับจนถึงวันที่ 10 เม.ย. มีการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการแล้ว 100,498 ตัวอย่างจากการขยายห้องปฏิบัติการได้ 93 แห่งทั้งรัฐ และเอกชน ซึ่งกรณีที่ว่าจะขยายไปเปิดใน รพ.สต.นั้น นพ.โอภาสชี้ว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องนักเทคนิคการแพทย์ที่จะต้องไปประจำ และการพัฒนาระบบความปลอดภัย

ขอขอบคุณข้อมูล https://www.bbc.com