“ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง” เป็นโครงการเพื่อความเป็นเลิศของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากทุน“สร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ช่วงที่ 2” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับงบประมาณจากศูนย์ความเป็นเลิศโรคมะเร็งครบวงจรและศูนย์ความเป็นเลิศเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์บำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการวิจัยพัฒนารักษาโรคมะเร็งในยุคปัจจุบันโดยเน้นไปสู่การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) เนื่องจากเป็นวิธีการสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง และความมีจำเพาะต่อโมเลกุลเป้าหมายในเซลล์มะเร็งแต่ละชนิด โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นผ่านกระบวนการพิเศษทำให้มีความสามารถในการจดจำและทำลายเซลล์มะเร็งที่เป็นเป้าหมายได้อย่างจำเพาะโดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติในร่างกาย
ถือว่าเป็นเรื่องที่ประชนให้ความสนใจเป็นอย่างต่อเนื่องกับจากงานวิจัยและค้นพบยารักษาโรคมะเร็งของทางแพทย์จุฬาฯ นอกจากจะพัฒนายารักษามะเร็งแล้ว นักวิจัยจากคณะแพทย์ฯ และคณะอื่นในจุฬาฯ จำนวนมากได้มีการร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดอีกหลายแนวทางด้วย เรามาดูกันว่าตอนนี้ทาง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง กำลังทำอะไรกันบ้าง
ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวชี้แจงในงานแถลงข่าวแพทย์จุฬาฯ ก้าวไกล..สร้างนวัตกรรมการรักษามะเร็งว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งได้จัดตั้งมาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว โดยมีอาจารย์และนักวิจัยจากคณะแพทย์ฯ และคณะอื่นในจุฬาฯ จำนวนมากมาร่วมมือกัน มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดด้วยหลายแนวทาง ประกอบด้วย
กลุ่มวิจัยพัฒนายาแอนติบอดีเพื่อการรักษามะเร็ง (Therapeutic antibody)
สำหรับยาในกลุ่มนี้เป็นยาที่มีประโยชน์มหาศาลแต่ก็มีราคาสูงมากเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากนโยบายที่รัฐบาลเร่งจะสนับสนุนให้มีการพัฒนายาในกลุ่มนี้ในประเทศ อย่างไรก็ตามขั้นตอนที่อาจจะตรงไปตรงมาและมีความเสี่ยงน้อยที่สุดคือการลงทุนสร้างยาแอนติบอดีที่กำลังจะหมดสิทธิบัตรหรือที่เรียกกันว่ายา Biosimilar ขึ้นเองในประเทศ สำหรับยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่สำคัญที่สุดก็คือยาในกลุ่ม Checkpoint inhibitor ที่ผู้ค้นพบคือนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่าน James P Allison และ Tasuku Honjo ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปีนี้นั่นเอง อย่างไรก็ตามยาชนิดนี้เพิ่งมีการอนุมัติให้จำหน่ายและจะหมดสิทธิบัตรเร็วที่สุดในปีพ.ศ. 2577 จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการของอ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อพัฒนายาใหม่ที่จะสามารถนำมาทดลองใช้ในผู้ป่วยได้ก่อนนั้น นอกจากนี้เรายังมีทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ที่กำลังพัฒนายารูปแบบอื่นร่วมด้วย
กลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดมะเร็ง (Cellular Immunotherapy)
ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก หรือไม่มีเม็ดเลือดขาวที่สามารถไปทำลายมะเร็งได้เพียงพอ การให้แอนติบอดี Anti-PD1 หรือ Anti-PDL1ไปปลดเบรกให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้ก็ยังไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่วมด้วย วิธีหนึ่งที่ทำได้คือการรักษาด้วยเซลล์บำบัด ซึ่งต้องการห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษที่สามารถผลิตเซลล์ที่ได้มาตรฐาน รพ.จุฬาฯได้ลงทุนสร้าง Facility ต่าง ๆ ไว้แล้ว และในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอรับรองตามมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการรักษาที่ทางศูนย์กำลังพัฒนาได้แก่การรักษาโดยการดัดแปลงยีนเพื่อให้เม็ดเลือดขาวทีเซลล์มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อต่อต้านโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น วิธีนี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2560 นี้เอง จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่เราตั้งเป้าหมายให้มีการบริการนี้ในโรงพยาบาลจุฬาฯโดยเร็วที่สุดเนื่องจากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยมะเร็งด้านโลหิตที่ไม่มีทางรักษาอื่นแล้วได้ประสบผลสำเร็จมากกว่า 80% อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีเซลล์บำบัดมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องทำในสถาบันที่มีความพร้อมและมีมาตรฐานเชื่อถือได้เท่านั้น และยังมีผลดีเฉพาะในโรคมะเร็งบางโรค ส่วนใหญ่จะได้ผลดีในมะเร็งของระบบโลหิตเป็นหลัก ดังนั้นจะขอถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลให้ดี อย่าหลงเชื่อสถาบันที่อาจจะโฆษณาเกินจริง นอกจากนี้ยังมีทีมวิจัยที่กำลังพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโดยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิดเอนเคเซลล์ (NK cell) และทีเซลล์ที่จำเพาะต่อไวรัสเพื่อรักษาโรคมะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งคงจะหาโอกาสแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
กลุ่มวิจัยพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็ง (Personalized Cancer Vaccine)
นอกจากการให้เซลล์บำบัดซึ่งมีราคาแพงมากดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว เรายังมีทีมวิจัยที่กำลังพัฒนาการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการให้วัคซีนด้วย การให้วัคซีนมีความซับซ้อน ไม่ใช่แค่ฉีดอะไรเข้าไปก็ได้ แต่ต้องเป็นส่วนของมะเร็งที่มีความสามารถกระตุ้นเม็ดเลือดขาวได้ดีเท่านั้น และจะยิ่งได้ผลดีต่อเมื่อเป็นวัคซีนที่ออกแบบเฉพาะบุคคลด้วย ในขณะนี้เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นการศึกษาในสัตว์ทดลองเป็นหลักและจะประกาศให้ทราบถ้ามีโครงการจะทดลองในคนต่อไป
เรียกได้ว่าเป็นความหวังใหม่ของคนไทย กับการผลิตยาเพื่อรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย ที่ทางทีมแพทย์ได้ตั้งเป้าหมาย เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขอบคุณรูปภาพจาก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เผยแพร่: ตุลาคม 26, 2018 โดย: brighttv
ข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง