อ.นพ.ธัชวีร์ อรรคฉายศรี
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรค SLE เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มแพ้ภูมิตนเอง สาเหตุโดยรวมเกิดจากขบวนการอักเสบที่ไม่ใช่การติดเชื้อ แต่เกิดจากภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยเอง และส่งผลไปต่อต้านเนื้อเยื่อร่างกายตนเอง การอักเสบสามารถเกิดกับอวัยวะใด ๆ ก็ได้ และการรักษามักจะแตกต่างกันออกไปตามอวัยวะที่เกี่ยวข้อง สาเหตุยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากผลรวมของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น แสงอุลตร้าไวโอเลตที่ส่งผลกระทบทำให้โรค SLE กำเริบได้ หรืออาจเกิดจากการที่ร่างกายได้รับยาประเภทต่าง ๆ เช่น ยาในกลุ่มลดความดันโลหิตสูง ยาหัวใจ และยากันชักบางตัว เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวเอเชียมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าชาวตะวันตก
ความแตกต่างระหว่างโรค SLE ในเด็ก และ ในผู้ใหญ่
จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า ผู้ป่วย SLE เด็กร้อยละ 15 – 20 จะมีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจะมีอาการของโรคได้ตั้งแต่หลังคลอดจนถึงวัยผู้ใหญ่ ส่วนมากพบในช่วงอายุ 10 – 14 ปี รองลงมา คือ อายุ 15 – 19 ปี และ 5 – 9 ปี ตามลำดับ โดยทั่วไปอาการของโรคตามระบบจะพบว่า อาการทางข้อ ผิวหนัง ไต และอาการทางประสาทจะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งโรค SLE ในเด็กพบว่ามีอาการรุนแรงมากกว่า และอาการจะกำเริบเร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ช่วงระยะเวลาในการรักษาจะต้องเร็วกว่าผู้ใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงผลร้ายในระยะยาว
ในส่วนของการรักษาและการใช้ยาจะมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ เพราะต้องคำนึงถึงผลระยะยาวที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก โดยเฉพาะผลทางด้านการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ตลอดจนผลข้างเคียงที่แก้ไขไม่ได้ถ้าเกิดขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยเด็กจะมีการตอบสนองต่อการรักษาและผลข้างเคียงของยากดภูมิคุ้มกันแตกต่างจากผู้ใหญ่ การตอบสนองต่อยาบางชนิดดีกว่าถ้าได้รับการบำบัดในระยะแรก ๆ ของโรค ก็จะสามารถลดผลข้างเคียงของโรคและยาได้ดีกว่า
เมื่อไรจึงจะสงสัยว่าบุตรหลานเป็นโรค SLE
1. มีไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ และอ่อนเพลียมากผิดปกติเป็นเวลานาน
2. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
3. มีผื่นขึ้นโดยเฉพาะที่หน้า และส่วนอื่น ๆของร่างกาย ซึ่งไม่ได้เกิดจากอาการแพ้ นอกจากนี้ยังมีอาการปวด บวมตามข้อ ตามตัว โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน
4. ผมร่วงมากผิดปกติ
5. เป็นโรคที่แพทย์ยังไม่สามารถให้การวินิจฉัยอาการที่แน่นอน
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเป็นโรค SLE
1. เอาใจใส่ต่ออาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้ป่วยมากกว่าเด็กปกติ
2. หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดให้มากที่สุด
3. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรลดหรือเพิ่มขนาดของยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้
4. เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที และควรมีวิธีที่จะติดต่อแพทย์เจ้าของไข้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
5. ไม่ควรจำกัดการเล่น เข้าสังคม หรือ activity ของผู้ป่วย ควรให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติที่สุด เว้นแต่ในกรณีที่แพทย์สั่ง
6. หากผู้ป่วยมีอาการทางไตร่วมด้วย หรือได้รับยาสเตียรอยด์ อาจจะต้องมีการจำกัดอาหารบางประเภท ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ
7. สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาคุมกำเนิด ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน เนื่องจากยาคุมกำเนิดบางประเภทสามารถทำให้โรค SLE กำเริบและควบคุมได้ยากขึ้น
โรค SLE เป็นโรคที่เรื้อรังไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมได้ และผู้ป่วยสามารถมีชีวิตได้อย่างปกติถ้าได้รับการรักษาทันท่วงทีและถูกต้องก่อนที่จะมีการทำลายของอวัยวะโดยถาวร