หากถามถึงโรคที่คร่าชีวิตราชินีนักร้องลูกทุ่งพุ่มพวง ดวงจันทร์ แน่นอนว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าโรคนั้น คือ “โรคแพ้ภูมิตัวเอง” หรือที่เรารู้จักกันดีในอีกชื่อคือโรคพุ่มพวง ปัจจุบันเราก็ยังคงพบผู้ป่วยโรคนี้อยู่ แต่ด้วยอาการของโรคที่เป็นๆ หายๆ อาจทำให้ผู้ป่วยบางคนเข้าใจผิดคิดว่าร่างกายแข็งแรงขึ้น จนนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยความห่วงใยจากกรมการแพทย์จึงได้มีการอธิบายถึงโรคนี้ รวมถึงแนะนำผู้ป่วยให้สังเกตอาการของตนเองเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ทันท่วงที
ทำความเข้าใจกับโรคแพ้ภูมิตัวเอง
โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus, SLE) หรือโรคพุ่มพวง เป็นโรคที่ภูมิต้านทานของเราไปทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง อาการของโรคคือจะเป็นๆ หายๆ มีการกำเริบและสงบลงเป็นระยะ มักพบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคได้ เพียงแต่พบได้จากทางพันธุกรรม รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดโรคได้ เช่น การติดเชื้อ ยา แสงแดด สารเคมีในสิ่งแวดล้อม
ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการอย่างไร?
สำหรับอาการของโรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) นี้จะแสดงความผิดปกติในร่างกายหลายระบบร่วมกัน เช่น ผื่นโรค SLE ระบบผิวหนัง ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อและข้อ เม็ดเลือด ไต ระบบทางเดินหายใจ ผมร่วง เป็นต้น ทำให้เวลาแสดงออกจะหลากหลาย และมีความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรง เช่น มีผื่น ปวดข้อ ไปจนถึงอาการที่มีความรุนแรงถึงเสียชีวิต เช่น ไต เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ ดังนั้น การดูแลรักษาผู้ป่วยแต่ละรายจึงมีความแตกต่างกัน และแม้ว่าจะเป็นโรคที่รักษาไม่หายแต่ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติ
ความผิดปกติของโรคแพ้ภูมิตัวเอง
การวินิจฉัยโรคนี้จะต้องอาศัยประวัติการเจ็บป่วย และผลเลือด ซึ่งหากพบความผิดปกติ 4 ใน 11 อย่าง ดังต่อไปนี้ ควรเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
– ผื่นบริเวณใบหน้าและมีการกระจายเป็นรูปผีเสื้อ
– ผื่นผิวหนังชนิดที่เรียกว่าผื่นดีสคอยด์ พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า ใบหู ลำตัว และแขนขา
– อาการแพ้แดด โดยมีผื่นผิวหนังแดงอย่างรุนแรงเมื่อโดนแดด
– แผลในปาก
– ข้ออักเสบ
– ไตอักเสบ (โดยปริมาณโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะมากกว่าปกติ)
– อาการชักหรืออาการทางระบบประสาทอื่นๆ
– เยื่อหุ้มปอดหรือหัวใจหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
– อาการซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ หรือเกล็ดเลือดต่ำ (ที่ไม่ได้เกิดจากยาหรือการติดเชื้อ)
– ตรวจพบแอนตินิวเคลียร์แอนติบอดี (antinuclear antibody) ในเลือด
– ตรวจพบแอนติบอดีต่อดีเอ็นเอ (anti-dsDNA) หรือการตรวจพบแอนติฟอสโฟไลปิดแอนติบอดี หรือการตรวจเลือดพบผลบวกปลอมต่อการตรวจซิฟิลิส
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลตนเอง พยายามเข้าใจกลไกของการเกิดโรค และหมั่นติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยควรทำตามคำแนะนำ คือ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สงบ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารครบ 5 หมู่และถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด แต่หากจำเป็นต้องโดนควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีผู้คนหนาแน่น รวมถึงรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และหากสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อ หรือมีอาการผิดปกติที่อาจบ่งชี้ว่าโรคกำเริบ เช่น อาการไข้ อ่อนเพลีย มีผื่นขึ้นมากกว่าเดิม ปวดข้อ ผมร่วง มีแผลในปาก ฯลฯ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับยา หยุดยา หรือพิจารณาให้ยาตามความเหมาะสม
ข้อมูล/รูปภาพ : กรมการแพทย์