มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เผยข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรสุขภาพต่างๆ ทั่วโลก ยังไม่พบหลักฐานว่าแม่ที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสามารถแพร่เชื้อไวรัสผ่านรกหรือน้ำนมสู่ลูกได้ โดยแม่ยังคงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
ทั้งนี้แม่ที่อยู่ในข่ายสงสัยและแม่ที่ติดเชื้อแล้ว แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันอย่างเคร่งครัดในการสัมผัสหรือได้รับละอองฝอย (Droplet) คือ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ และย้ำว่า Social Distancing เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ด้านมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยฝากไว้ 3 เตรียมสำหรับสตรีมีครรภ์ คือ เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมคู่หู
พญ. ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันนี้ COVID-19 ได้แพร่ไปใน 202 ประเทศทั่วโลก (องค์การอนามัยโลก – 28 มีนาคม 2563) ด้วยจำนวนผู้ป่วยราว 512,701 ราย มีอัตราการเสียชีวิตล่าสุด ประมาณ 3-4 % แต่พบว่าอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตในหญิงมีครรภ์ ในทารกและเด็กเล็กอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้สูงวัยและหรือผู้มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว
ปัญหาการติดเชื้อ COVID 19 ยังเป็นโรคกลุ่มอุบัติใหม่ ที่เกิดขึ้นเพียง 4 เดือน ซึ่งเรายังมีความรู้เกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้น้อยมาก ยังต้องติดตามและศึกษาวิจัยต่อเนื่อง ข้อมูลเบื้องต้นจากการแพทย์ทั่วโลกจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่าการติดเชื้อในแม่จะว่าส่งผลอย่างไรกับทารกในระยะ 3 – 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มีข้อมูลเฉพาะแม่ติดเชื้อและมีอาการในระยะ 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด โดยรายงานจากประเทศจีนในช่วงแรกๆของการระบาด แม้แม่มีอาการมาก แต่ทารกไม่มีการติดเชื้อจากในครรภ์ ล่าสุด* มีรายงาน ทารกแรกเกิด 33 ราย ที่คลอดจากแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัส COVID 19 ในโรงพยาบาลเมื่องอูฮั่น มีทารก 3 คน พบมีเชื้อ COVID 19 ในตัวลูก แต่ไม่พบเชื้อใน น้ำคร่ำ เลือดจากสายสะดือ และในน้ำนมแม่ ทารกทั้ง 3 รายมีอาการไม่รุนแรง
จากข้อมูลดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า การติดเชื้อในลูกน่าจะเป็นการติดเชื้อจากการปนเปื้อนสัมผัสเชื้อหลังเกิด ไม่ใช่จากการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (Vertical Transmission) ดังนั้น การป้องกันหญิงตั้งครรภ์จากการสัมผัสเชื้อจึงมีความสำคัญอย่างมาก
แม่ลูกอ่อนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังสามารถให้นมแม่ได้หรือไม่ พญ. ศิริพร กล่าวว่า “ทางมูลนิธิศูนย์นมแม่ได้ติดตามข้อมูลทางวิชาการและผลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดย ณ ปัจจุบัน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขให้คำแนะนำกับแม่ ทั้งที่อยู่ในข่ายสงสัยและที่ติดเชื้อแล้ว ทั้งที่ไม่มีอาการและมีอาการ ที่ยังคงให้ลูกกินนมแม่ได้ โดยต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่กระจายทางละอองฝอย(Droplet Precaution) อย่างเคร่งครัด
สอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) และสมาคมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่างๆ ซึ่งยังเน้นว่า การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันให้แม่สามารถให้นมแม่ลูกได้ ด้วยความสำคัญของคุณค่าน้ำนมแม่ ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกในระยะที่ลูกยังอ่อนเยาว์ การเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกในระยะที่สมองกำลังจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และผลดีต่างๆต่อสุขภาพกาย ใจ ของแม่และลูก จึงยังควรช่วยให้แม่สามารถให้นมแม่ได้ แต่ทุกแห่งก็ย้ำว่าต้องทำตามข้อปฏิบัติเพื่อการป้องกันที่จำเป็นทั้งหมด และควรอยู่ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์ผู้ดูแลหรือผู้เชี่ยวชาญด้วย”
ศ.คลินิก พญ. ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ข้อมูล ณ วันนี้ทั้งโลกยังยืนยัน ไม่ปรากฎว่ามีการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ การให้นมแม่ต้องให้พร้อมการป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัส การติดเชื้อของลูกจากการสัมผัสลูกก็อาการไม่รุนแรง และการติดเชื้อในแม่จะมีผลต่อทารกในครรภ์ในระยะ 3-6 เดือนในท้องหรือไม่เพราะทารกกลุ่มนี้ยังไม่คลอด เราคงไม่อยากให้ แม่และลูกต้องอยู่ในสถานการณ์การติดเชื้อ ที่ก็ไม่ง่ายนักในการป้องกันให้ได้ผล เพราะเช่นนี้ จึงขอให้สังคมให้ความสำคัญ ในการช่วยกัน ป้องกันไม่ให้แม่ติดเชื้อตั้งแต่ต้น โดย แม่ตั้งครรภ์ในทุกระยะ ควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการรับเชื้อให้มากที่สุด
พญ. ศิราภรณ์ กล่าวเสริมว่า “กรณีที่แม่ติดเชื้อไวรัสและมีอาการไม่มาก หรืออยู่ในระยะเฝ้าระวัง และต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะให้นมแม่จากเต้า หรือการบีบน้ำนมให้ลูก คงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางครอบครัว ดุลพินิจของแพทย์และการตัดสินใจร่วมกันของแม่ โดยทางองค์กรอนามัยโลก ไม่ได้ส่งเสริมการแยกแม่ลูกออกจากกันโดยเด็ดขาด ถ้าจำเป็นก็ต้องแยก หรือถ้าทำไม่ได้ก็ให้อยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร แต่เน้นย้ำว่าแม่ต้องรู้จักวิธีการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่ถูกต้องและทำอย่างเข้มงวด คือ ก่อนจะให้นมลูก ต้องล้างมือและสวมหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อจากแม่ไปสู่ลูก ไม่เอามือไปจับหน้ากากหรือใบหน้า จัดการทำความสะอาดผิวสัมผัสใด ๆ ให้บ่อยครั้ง ควรพกผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษทิชชูพร้อมปิดปากเสมอถ้าจะจาม มีระบบการทิ้ง การทำลายเชื้อให้มีความคล่องตัว ถ้าต้องการแยกลูก ให้แม่บีบนมให้ผู้ช่วยดูแลนำนมป้อนลูก จนพ้นระยะเฝ้าระวังหรือหายเป็นปกติ”
กรณีแม่ติดเชื้อและมีอาการมาก จำเป็นต้องแยกแม่และลูก ถ้าแม่ยังสามารถบีบน้ำนม ให้ได้ ก็ควรให้บีบน้ำนมหรือการใช้เครื่องปั๊มนมช่วยบีบน้ำนมและให้ผู้ดูแลเด็กป้อนให้ลูก โดยปฏิบัติตามวิธีป้องกันการติดเชื้อแบบเดียวกัน นอกจากลูกจะได้รับนมแม่ ยังช่วยให้แม่ยังคงสภาพในการให้นมแม่กับลูกได้เมื่อหายแล้ว อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์พยาบาลผู้ดูแลเพื่อเรียนรู้วิธีการปฏิบัติและป้องกันที่ถูกต้องและตัดสินใจร่วมกับแพทย์ในการเลือกแนวทางการให้นมบุตรที่เหมาะสม และแม่ควรหมั่นติดตามสถานการณ์เพื่อทำความเข้าใจในการป้องกันและรักษาโรค เพราะโรคนี้มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอยู่ตลอดเวลา
ที่มา ผู้จัดการรายวัน , สสส.