มะเร็งรังไข่

การพิจารณาผ่าตัดรังไข่ในผู้หญิงที่ตรวจพบยีน BRCA

Views

ข้อมูลที่ควรทำความเข้าใจ ก่อนการพิจารณาตัดสินใจผ่าตัดรังไข่เพื่อป้องกันมะเร็ง
          
1.ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ของ  ผู้ที่เป็นพาหะของยีน BRCA
          
2.การประเมินประโยชน์ที่จะได้รับภายหลังการตัดรังไข่ (และท่อนำไข่)
          
3.ภายหลังการตัดรังไข่ ควรได้รับการดูแลป้องกันและเฝ้าระวังภาวะที่เกิดจากการพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจน ได้แก่ ภาวะกระดูกบางภาวะไขมันในเลือดสูง อาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวนภาวะผิวแห้งความยืดหยุ่นลดลง หรือช่องคลอดแห้งจนอาจมีผลต่อเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
          
4.ภายหลังการตัดรังไข่ พิจารณา ผลดี ผลเสีย ของการใช้ฮอร์โมนทดแทนหรือพิจารณาการดูแลรักษาภาวะพร่องฮอร์โมน (ภาวะวัยทอง) อย่างเหมาะสม ด้วยการไม่ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์

ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ของผู้ที่เป็นพาหะของยีน BRCA
          – 
ความเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่และหรือมะเร็งท่อนำไข่ในผู้หญิงที่เป็นพาหะของยีน BRCA 1 จะสูงกว่าผู้หญิงที่เป็นพาหะของยีน BRCA2  (40% เทียบกับ 20%)  แต่ก็ยังมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นพาหะของยีน BRCA ประมาณ 10 เท่า
            – ประมาณการว่ามีผู้หญิงที่เป็นพาหะของยีน BRCA 1 ร้อยละ 3 เป็นมะเร็งรังไข่และหรือมะเร็งท่อนำไข่ ในช่วงอายุประมาณ 40 ปี ซึ่งน้อยกว่าช่วงอายุของการเกิดมะเร็งรังไข่(ชนิดเยื่อบุผิว) ในหญิงทั่วไปที่ไม่มียีนนี้ที่มักพบช่วงอายุมากกว่า 50 ปี
            – เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นผู้หญิงที่เป็นพาหะของยีน BRCAควรได้รับคำแนะนำก่อนถึงช่วงอายุ 40ปีเพื่อพิจารณาการผ่าตัดรังไข่พร้อมท่อนำไข่เพื่อป้องกันมะเร็ง


ประโยชน์ที่จะได้รับภายหลังการตัดรังไข่ (และท่อนำไข่) ทั้งสองข้าง ของผู้ที่เป็นพาหะของยีน BRCA
            – ลดการเกิดมะเร็งของรังไข่และท่อนำไข่
            – แต่ยังมีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเยื่อบุผิวช่องท้อง (primary peritoneal cancer) ที่มีอาการคล้ายมะเร็งรังไข่ได้
            – ไม่เกิดโรคที่มีเหตุจากรังไข่ เช่น chocolate cyst หรือถุงน้ำรังไข่อื่นๆ
            – ไม่มีรอบระดู เพราะไม่มีฮอร์โมนจากรังไข่มากระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูก (อาจมีเลือดออกคล้ายระดู หากได้รับฮอร์โมนทดแทน)
            – การผ่าตัดมักจะทำการตัดทั้งรังไข่และท่อนำไข่ไปพร้อมกันทั้งสองข้าง ปัจจุบันทำได้ง่ายและอาจไม่ต้องพักค้างโรงพยาบาลโดยการผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้อง แผลผ่าตัดเล็กทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว

ภายหลังการตัดรังไข่และท่อนำไข่ทั้งสองข้าง

            ผู้หญิงที่ถูกตัดรังไข่และท่อนำไข่ทั้งสองข้าง จะถือว่าเข้าภาวะวัยทองก่อนวัย ซึ่งอาจมีอาการ อาการแสดงได้หลายระบบ เช่น อาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน ภาวะผิวแห้งความยืดหยุ่นลดลงหรือช่องคลอดแห้งจนอาจมีผลต่อเพศสัมพันธ์ภาวะไขมันในเลือดสูง ในระยะยาว จะมีภาวะกระดูกบางก่อนวัยซึ่งมีความเสี่ยงต่อกระดูกพรุน กระดูกหักง่าย รวมถึงความคิดอ่านความจำที่อาจเกิดด้อยลง  ซึ่งควรได้รับ การดูแลป้องกันและติดตามให้มีผลกระทบน้อยสุดหรือช้าสุด ไม่ว่าจะได้รับฮอร์โมนทดแทนระยะสั้น หรือสารสังเคราะห์ทดแทนที่ไม่ใช่ฮอร์โมนเอสโตรเจน ในรายที่มีความจำเป็น แต่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำจากนรีแพทย์ ศัลยแพทย์ และอายุรแพทย์ หรือเลือกที่จะใช้การปฏิบัติตัว ปรับพฤติกรรม และอาหารให้เหมาะสมเพียงพอ ออกกำลังกาย ร่วมกับการใช้ครีมบำรุงผิวหากเลือกที่จะไม่ใช้ฮอร์โมนทดแทน (หรือไม่สามารถใช้ได้เพราะบางรายเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมที่เหลืออยู่) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการผ่าตัดรังไข่

ขอบคุณที่มา 

ผศ.พญ.สุวนิตย์  ธีระศักดิ์วิชยา

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล