- อุบัติการณ์แนวโน้มทั้งในประเทศและระดับโลก
มะเร็งผิวหนังชนิด Malignant Melanoma นี้ เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรงมาก โดยเป็นสาเหตุการตายถึง 75% ของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังทั้งหมด โดยทั่วไปพบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดได้ถึงปีละ 160,000 รายทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นในประชากรผิวขาว สำหรับประชากรไทยพบโรคมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ได้น้อย - ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค
ปัจจุบันนี้พบโรคมะเร็งผิวหนังได้บ่อยมากขึ้น สาเหตุเกิดจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจัยส่งเสริมให้เกิดมะเร็งผิวหนังมีดังนี้
– โรคทางพันธุกรรมบางโรค
– คนผิวขาว หรือคนเผือก
– แสงแดด
– สารเคมี เช่น สารหนู (Arsenic)
– ไวรัสหูด (human papilloma virus) บางชนิด
– แผลเรื้อรัง
– การได้รังสีรักษา
– ภาวะภูมิต้านทานต่ำ
– การสูบบุหรี่ - อาการและอาการแสดง
พบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย ผู้ป่วยมักอยู่ในอายุระหว่าง 50 – 70 ปี มะเร็งผิวหนังชนิดนี้เกิดที่ตำแหน่งใดบนร่างกายก็ได้ อาจพบบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดดเป็นประจำหรือไม่ก็ได้ โดยมีลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนสีดำเข้ม แต่ก็พบมีหลายสีได้ ตั้งแต่สีดำ แดง ชมพู น้ำตาล เทา โดยสีของมะเร็งผิวหนังจะกระจายบนก้อน ไม่สม่ำเสมอกัน ในคนไทยมักพบมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ที่ฝ่ามือฝ่าเท้าได้ถึงร้อยละ 50 มะเร็งผิวหนังชนิดนี้มักเกิดบนตำแหน่งที่เป็นไฝเดิม แล้วมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป หรือเป็นไฝที่เกิดขึ้นมาใหม่ โดยไฝเหล่านี้จะมีลักษณะขอบเขตไม่ชัดเจน มีสีไม่สม่ำเสมอ มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร - การวินิจฉัย
การวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังชนิดนี้สามารถทำได้โดยตัดชิ้นเนื้อบางส่วน หรือทั้งหมดของรอยโรคเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา - การตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย
ไม่มี - การรักษา
– การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน โดยจะต้องทำการผ่าตัดทั้งรอยโรคและผิวหนังปกติที่อยู่รอบรอยโรคนั้นออกอย่างน้อย 1-2 เซนติเมตรโดยรอบ
– การให้ยาเคมีบำบัด
การให้ยาเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ เป็นวิธีการรักษาร่วมกับการผ่าตัด โดยเฉพาะในกรณีที่โรคมะเร็งผิวหนังเป็นชนิดรุนแรง หรือมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ
– การให้รังสีรักษา
จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ หรือเป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด - การติดตามผลการรักษา
ผู้ป่วยควรมารับการตรวจติดตามผลการรักษาทุก 3-6 เดือน เพื่อประเมินการกลับเป็นซ้ำ หรือการมีมะเร็งผิวหนังเกิดขึ้นใหม่ในตำแหน่งอื่นอีก - การตรวจคัดกรอง
กรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ หรือมีญาติที่เคยเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ หรือมีไฝที่น่าสงสัยว่าจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง ควรมารับการตรวจโดยแพทย์ผิวหนังทุก 6 เดือน เมื่อพบรอยโรคที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งผิวหนัง ควรส่งรอยโรคทางผิวหนังดังกล่าว เพื่อรับการตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป
ขอบคุณที่มา
ผศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา
ศูนย์เลเซอร์ผิวหนังและศัลยกรรมผิวหนัง
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล