มะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma

Views
    1. อุบัติการณ์แนวโน้มทั้งในประเทศและระดับโลก
       มะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma นี้ เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ในชาวตะวันตกซึ่งมีผิวขาว สามารถพบได้ถึง 30% ของประชากรทั้งหมด สำหรับอุบัติการณ์ในประเทศไทยจะพบน้อยกว่านี้
    2. ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค
       ปัจจุบันนี้พบโรคมะเร็งผิวหนังได้บ่อยมากขึ้น สาเหตุเกิดจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจัยส่งเสริมให้เกิดมะเร็งผิวหนังมีดังนี้
                              – โรคทางพันธุกรรมบางโรค
                              – คนผิวขาว หรือคนเผือก
                              – แสงแดด
                              – สารเคมี เช่น สารหนู (Arsenic)
                              – ไวรัสหูด (human papilloma virus)   บางชนิด
                              – แผลเรื้อรัง
                              – การได้รังสีรักษา
                              – ภาวะภูมิต้านทานต่ำ
                              – การสูบบุหรี่
    3. อาการและอาการแสดง
       พบในผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ลักษณะเป็นตุ่มผิวเรียบ ขอบจะมันวาว บางครั้งขอบอาจมีขนาดเล็กเท่าเส้นด้าย และอาจมีหลอดเลือดฝอยเล็กๆ ที่ผิวในคนไทยตุ่มมักมีสีดำหรือสีน้ำตาลปะปนมากน้อยแตกต่างกัน บางรายอาจมีแผลแตกตรงกลางรอยโรค ขยายกว้างออกช้าๆ ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือศีรษะและลำคอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จมูก ลักษณะเด่นของมะเร็งผิวหนังชนิดนี้มักมีสีน้ำตาลหรือดำ ล้อมรอบด้วยขอบมันวาว ยกและม้วนเข้า
    4. การวินิจฉัย
       การวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังชนิดนี้สามารถทำได้โดยตัดชิ้นเนื้อบางส่วน หรือทั้งหมดของรอยโรคเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
                  1. การตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย
                              ไม่มี
                  2. การรักษา
                              การผ่าตัด
                  การผ่าตัดมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ทำได้ 2 วิธี วิธีแรกคือการผ่าตัดตามวิธีมาตรฐาน ในกรณีที่มะเร็งผิวหนังขนาดเล็กกว่า 6 มิลลิเมตร จะทำการผ่าตัดเพื่อเอามะเร็งผิวหนัง และผิวหนังปกติที่อยู่รอบเนื้อมะเร็งผิวหนังอีกอย่างน้อย 4 มิลลิเมตรโดยรอบ แต่ในกรณีที่มะเร็งผิวหนังมีขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร จะต้องทำการผ่าตัดเอาผิวหนังปกติออกอย่างน้อย 6 มิลลิเมตรโดยรอบ
                  วิธีผ่าตัดวิธีที่สองคือการผ่าตัดด้วยวิธี Mohs Micrographic Surgery วิธีการผ่าตัดแบบนี้จะมีอัตราการหายจากมะเร็งผิวหนังสูงถึง 97-99.8% วิธีการผ่าตัดวิธีนี้จะใช้เวลานานกว่าการผ่าตัดปกติ เนื่องจากมะเร็งผิวหนังที่ถูกตัดออกไปจะถูกนำมาตรวจทางพยาธิวิทยาทันที เพื่อให้แน่ใจว่ามะเร็งผิวหนังได้ถูกตัดออกหมดก่อนทำการเย็บปิดแผลผ่าตัด
    5.   การให้ยาเคมีบำบัด
                  การให้ยาเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งผิวหนังชนิดนี้จะเป็นการทายา 5-fluorouracil หรือ 5% Imiquimod แต่สามารถใช้ได้กับมะเร็งผิวหนังชนิดที่อยู่ตื้น ๆ เท่านั้น
    6. การให้รังสีรักษา
       จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ เช่น ในผู้ป่วยอายุมาก ที่มีโรคประจำตัว หรือมะเร็งผิวหนังที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้
    7.   การรักษาอื่น ๆ (ถ้ามี)
                  การรักษาวิธีอื่น ๆ เช่น การพ่นความเย็น การจี้ไฟฟ้า และ photodynamic therapy สามารถใช้ได้ในกรณีที่มะเร็งผิวหนังเป็นชนิดตื้น หรือมีจำนวนมากจนไม่สามารถทำการผ่าตัดออกได้ทั้งหมด
    8. การติดตามผลการรักษา
      ผู้ป่วยควรมารับการตรวจติดตามผลการรักษาทุก 6 เดือน เพื่อประเมินการกลับเป็นซ้ำ หรือการมีมะเร็งผิวหนังเกิดขึ้นใหม่ในตำแหน่งอื่นอีก
      1. การตรวจคัดกรอง
      กรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็งผิวหนัง ควรมารับการตรวจโดยแพทย์ผิวหนังอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เมื่อพบรอยโรคที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งผิวหนัง ควรส่งรอยโรคทางผิวหนังดังกล่าว เพื่อรับการตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป

ขอบคุณที่มา

ผศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา

ศูนย์เลเซอร์ผิวหนังและศัลยกรรมผิวหนัง
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล