วันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การไม่รู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งปอด เพราะกว่าจะรู้ส่วนใหญ่มะเร็งได้ลุกลามแพร่กระจายไปแล้ว
เป็นที่ยอมรับกันในวงการแพทย์ว่า “การสูบบุหรี่” มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอด ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 20 – 30 เท่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนและระยะเวลาที่สูบบุหรี่ เนื่องจากในบุหรี่มีสารพิษนิโคติน ทาร์ และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่จำเป็นต้องสูดควันบุหรี่จากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือในบริเวณอับที่มีควันบุหรี่อยู่ ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 1.2 – 1.5 เท่า
ปัจจุบัน การตรวจและการรักษาโรคมะเร็งปอดมีความก้าวหน้าอย่างมาก ดังเช่น
- การวินิจฉัยในระยะแรกเริ่ม ด้วยการตรวจเอกซเรย์ปอดและเสมหะเพื่อหาเซลล์มะเร็งในผู้ที่มีความเสี่ยง แม้จะไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ แต่หากพบโรคมะเร็งในระยะแรกเริ่มจะทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีความพยายามใช้การเอกซเรย์ที่มีความละเอียดสูงร่วมกับการย้อมเสมหะ ด้วยวิธีพิเศษ ทำให้เห็นเซลล์ผิดปกติได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังมีราคาค่าตรวจที่สูง
- การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน เหมาะสำหรับการรักษามะเร็งที่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ขั้วปอด หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ช่วยให้เนื้อปอดบริเวณโดยรอบไม่ถูกทำลาย บาดแผลเล็ก และผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว
- ยาเคมีบำบัด มีการค้นพบยาชนิดใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยลงและได้ผลต่อโรคมากขึ้น รวมถึงการคิดค้นยาเคมีบำบัดชนิดเม็ด ทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกมากขึ้น
- การฉายรังสี ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการฉายรังสีที่ทำให้ก้อนมะเร็งได้รับรังสีในขนาดที่สูงขึ้น โดยที่อวัยวะรอบข้างไม่ได้รับผลกระทบจากรังสีชนิดนั้น ๆ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีขึ้น เพราะผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียง
- การรักษาแบบประคับประคอง เป็นวิธีที่พยายามช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงคนปกติที่สุด โดยอาศัยการควบคุมอาการต่าง ๆ ของโรค เช่น อาการเหนื่อย ไอ จนถึงขั้นไอเป็นเลือด ซึ่งทำได้โดยการดูแลสุขภาพพื้นฐานให้ดีที่สุด
ที่กล่าวมานี้ แม้วิทยาการทางการแพทย์จะช่วยรักษาโรคมะเร็งปอดได้ แต่ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคด้วยการหยุดสูบบุหรี่จะดีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบุคคลกลุ่มนี้จะสามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ แต่อัตราการเกิดโรคมะเร็งปอดยังสูงอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ในอดีต ซึ่งความเสี่ยงนี้จะลดลงเป็นปกติหลังหยุดสูบบุหรี่แล้ว 10 ปี ดังนั้นการรณรงค์ให้มีการตรวจร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ที่มีความผิดปกติทางการหายใจ เช่น มีอาการไอเรื้อรัง ไอจนเป็นเลือด จะทำให้แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอดในระยะแรกเริ่มได้ ซึ่งจะทำให้ผลการรักษาดีขึ้น
ขอบคุณที่มา
รศ.นพ.แจ่มศักดิ์ ไชยคุนา
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล