เกิดขึ้นได้อย่างไร
มะเร็งรังไข่มีหลายชนิด ชนิดที่พบบ่อยที่สุดเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นที่เยื่อบุหุ้มรังไข่ พบประมาณ 80% ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด
สาเหตุของการเกิดมะเร็งรังไข่ยังไม่สรุปแน่นอนแต่มักจะเกิดในสตรีที่อายุค่อนข้างมาก ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง สตรีที่มีบุตรน้อย รวมทั้งพบบ่อยในสตรีที่รับยากระตุ้นให้มีการตกไข่ พบเป็นน้อยลงในสตรีที่รับประทานยาคุมหรือฉีดยาคุมกำเนิด ปัจจุบันนี้ตรวจพบว่าความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่างก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ จึงเป็นสาเหตุให้พบหญิงในตระกูลเดียวกันเป็นมะเร็งรังไข่ร่วมกันได้บ่อย ๆ
อาการเป็นอย่างไร
มะเร็งรังไข่ระยะเริ่มต้นอาจจะไม่มีอาการผิดปกติเลย อาการที่ผู้ป่วยมาหาแพทย์บ่อย ได้แก่ ปวดท้อง อาการท้องโตขึ้นซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากก้อนมะเร็งที่รังไข่หรือเกิดจากท้องมานก็ได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจจะมาด้วยอาการอื่น ๆ แล้วแต่ว่ามะเร็งกระจายไปที่ใด เช่น กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ทำให้ตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือกระจายไปที่ปอดทำให้ผู้ป่วยมาด้วยอาการไอ เหนื่อยหอบ หรือมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น
วิธีการตรวจหามะเร็งรังไข่มีหรือไม่
การตรวจร่างกายและการตรวจภายในอาจจะตรวจพบว่ารังไข่กลายเป็นก้อนเนื้องอกและหากตรวจพบตามอาการดังกล่าวข้างต้น แพทย์จะให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่าผู้ป่วยอาจจะเป็นมะเร็งรังไข่ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แพทย์ตรวจพบก้อนที่รังไข่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ตรวจพบสิ่งผิดปกติอย่างอื่นอาจจำเป็นจะต้องอาศัยการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย เช่น การตรวจโดยเครื่องอัลตราซาวนด์ ซึ่งสามารถที่จะบอกถึงลักษณะของรังไข่ที่โตนั้นว่าเป็นถุงน้ำล้วน ๆ หรือเป็นเนื้อตัน นอกจากนี้ยังสามารถบอกได้ว่ามีภาวะท้องมานร่วมด้วยหรือไม่ และยังอาจจะบอกได้ถึงเนื้องอกที่มะเร็งอาจจะกระจายไปบริเวณอื่น ๆ ได้อีกด้วย บางครั้งถ้าใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ที่ทันสมัยยังอาจจะบอกได้ถึงปริมาณเลือดที่มาหล่อเลี้ยงก้อนเนื้อที่รังไข่ ช่วยให้ความแม่นยำในการวินิจฉัยมะเร็งรังไข่สูงขึ้น การตรวจหาระดับของโปรตีนที่ผิดปกติ (สารส่อมะเร็ง) จากการตรวจเลือด ก็อาจจะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยนี้ อย่างไรก็ตาม อยากจะกล่าวย้ำว่าการตรวจพบก้อนที่รังไข่เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเนื้องอกเสมอไป นั่นหมายความว่ารังไข่ที่โตบางชนิดสามารถที่จะยุบหายเองได้โดยไม่ต้องการรักษา และก้อนที่รังไข่ส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็ง
เป็นแล้วรักษาอย่างไร
การรักษามะเร็งรังไข่นั้นมักจะเริ่มต้นด้วยการผ่าตัดก่อน ซึ่งแพทย์ผู้ทำผ่าตัดจะตรวจตราดูการกระจายของมะเร็ง โดยทั่วไปแพทย์จะตัดมดลูกและปีกมดลูกทั้งสองข้างออกรวมทั้งตัดพังผืดใต้ลำไส้ใหญ่ขวางออก นอกจากนี้ถ้าพบมะเร็งที่บริเวณอื่น ๆ แพทย์ก็จะพยายามตัดออกให้หมดหรือเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ โดยพยายามไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด หลังจากการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมโดยการรับยาเคมีบำบัด ซึ่งสามารถที่จะทำลายมะเร็งรังไข่ที่หลงเหลือจากการผ่าตัด
ผู้ป่วยบางรายซึ่งมีสภาพไม่เหมาะที่จะรับการผ่าตัดเบื้องต้น เช่น ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการดมยาสลบหรือมีโรคที่อาจจะมีความเสี่ยงสูงในการทำผ่าตัด ผู้ป่วยเหล่านี้อาจจะได้รับยาเคมีก่อนเมื่อก้อนมะเร็งยุบลงและสภาพผู้ป่วยเหมาะสมแก่การผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดภายหลัง อยากจะกล่าวย้ำว่าการมาตรวจหรือรักษาตามแพทย์นัดมีความสำคัญมากต่อผลการรักษา และกระทั่งรับการรักษาครบแล้ว การมาตรวจติดตามแพทย์นัดก็มีความสำคัญยิ่งยวดเช่นกัน
การพยากรณ์ของโรคขึ้นกับหลายปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ ระยะของโรค ชนิดของพยาธิวิทยามะเร็ง และขนาดของเนื้อมะเร็งที่เหลือจากการผ่าตัด รวมทั้งขึ้นกับการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด นอกจากนี้ยังอาจจะขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ อีก
ขอบคุณที่มา
รศ.นพ.ชัยยศ ธีรผกาวงศ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล