จากการศึกษาพบว่าคนไทยบริโภคเกลือสูงถึง 2 เท่าของปริมาณที่ร่างกายต้องการ ส่งผลให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 25% หรือประมาณ 10 ล้านคนและเป็นโรคไตเรื้อรัง 7 ล้านคน
โซเดียม กับโรคไตเรื้อรัง
โรคไตเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจก่อให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา เช่น อัมพฤกษ์อัมพาต โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงภาวะไตวายและอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
โซเดียม เป็นหนึ่งในเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการ มีผลต่อการทำงานของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ และความดันโลหิต ร่างกายได้รับโซเดียมจากอาหารในรูปของเกลือโซเดียมคลอไรด์ซึ่งมีรสชาติเค็ม เช่น น้ำปลา กะปิ นอกจากนี้ โซเดียมยังอยู่ใน ผงชูรสและผงฟู ซึ่งไม่มีรสเค็มด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ 7 อาหารแสนอร่อยที่ซ่อนโซเดียมสูง หากรับประทานบ่อย ๆ อาจทำให้มีปัญหากับไตได้
อาหารที่มีโซเดียมสูง
- เฟรนช์ฟรายและถั่วอบเกลือ หลายคนทราบดีว่าเฟรนช์ฟรายมีไขมันสูง เนื่องจากใช้น้ำมันในการทอด แต่กลับมองข้ามความเค็มของเกลือที่โรยและซอสที่ใช้จิ้ม นอกจากเฟรนช์ฟราแล้ว ถั่วอบเกลือยังเป็นแหล่งโซเดียมที่ยิ่งเคี้ยวยิ่งมัน ยิ่งอร่อยทำให้รับประทานเพลินจนร่างกายรับปริมาณโซเดียมมากเกินไป
- ส้มตำปูปลาร้า หนึ่งในเมนูลดความอ้วนของสาวๆ แต่การที่ใส่ปูเค็มและปลาร้าที่ผ่านการหมักเกลือ อีกทั้งยังปรุงรสด้วยน้ำปลาและผงชูรส ทำให้ส้มตำปูปลาร้าสุดแซบกลายเป็นตัวการนำโซเดียมเข้าสู่ร่างกายเกินมาตรฐาน
- ยำแซบ อีกเมนูยอดนิยมของคนไทย ตั้งแต่แซบธรรมดา โคตรแซบ ไปจนถึงอภิมหาแซบ นอกจากน้ำปลาและผงชูรสที่ประโคมลงปรุงรสแล้ว เมนูยำแซบที่ได้รับความนิยมมักเป็นของหมักดอง เช่น ปูดอง กุ้งแช่น้ำปลา รวมถึงแหนมและไส้กรอก ซึ่งอาหารหมักดองและแปรรูปย่อมต้องมีเกลือเป็นส่วนผสมทั้งสิ้น
- สารพัดน้ำจิ้ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำจิ้มปิ้งย่าง น้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มแจ่ว หรือน้ำจิ้มซีฟู้ด ต่างก็มีน้ำปลา เกลือ ผงปรุงรส และผงชูรส ช่วยชูรสให้กลมกล่อมขึ้น ยิ่งตัวอาหารเองมีการปรุงรสมาอยู่แล้ว เช่น ลูกชิ้น ไก่ย่าง สุกี้ ยิ่งรับประทานพร้อมน้ำจิ้ม ยิ่งหมายถึงการเติมเกลือเข้าร่างกายมากขึ้น
- อาหารแปรรูป ของหมักดองและแช่อิ่ม จำเป็นต้องมีเกลือเป็นส่วนผสมหลัก เพื่อเป็นการถนอมอาหาร หากรับประทานในปริมาณมากหรือบ่อยเกินไป ก็เป็นการเพิ่มโซเดียมเข้าร่างกายเช่นกัน
- เล้งแซบ ซุปใสรสแซบซดคล่องคอ นอกจากใช้น้ำปลาในการปรุงความแซบแล้ว ในน้ำซุปคือโซเดียมจากเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ส่วนใหญ่ที่ละลายอยู่ ทั้งผงปรุงรส เกลือ ซอสปรุงรส ซีอี๊ว และผงชูรส ถือเป็นเมนูโซเดียมหลากหลายในหม้อเดียว นอกจากเมนูเล้งแซบแล้ว เมนูอื่นๆ ที่มีซุป เช่น ก๋วยเตี๋ยว สุกี้ ก็ถือเป็นอาหารโซเดียมสูง เช่นกัน
- เบเกอรี่ ขนมปัง เค้ก คุกกี้ โดนัท และพาย แทบไม่น่าเชื่อว่าขนมอบจะมีปริมาณโซเดียมสูง เพราะไม่มีรสเค็ม แต่ผงฟูถือว่าเป็นโซเดียมรูปแบบหนึ่งที่ไม่มีรสเค็ม ดังนั้นการรับประทานขนมอบที่ใส่ผงฟู ก็คือการบริโภคโซเดียมที่ไม่มีรสเค็ม
ปริมาณโซเดียมต่อวัน
องค์การอนามัยโลก แนะนำปริมาณโซเดียมในอาหารไม่ควรบริโภคเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือ น้ำปลาไม่เกิน 3 ช้อนชาต่อวัน แต่อาหารสุดโปรดของคนไทยทำให้รับประทานโซเดียมกันมากถึง 3,000-5,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเฉพาะอาหาร 7 จาน ที่ทำให้น้ำลายสอ นึกถึงความอร่อย แซบ หอม หวาน และมีความสุขทุกครั้งที่ได้รับประทาน
หากยังละเลิกอาหารแสนอร่อยเหล่านี้ไม่ได้ ลองหันมาปรุงเอง โดยลดความเค็มลง หรือเลือกใช้เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมต่ำ รวมถึงรับประทานในปริมาณที่น้อยลงและไม่รับประทานบ่อยเกินไป เพื่อห่างไกลจากภาวะไตวายเรื้อรัง จนต้องตัดไตไปในที่สุด