ภาวะหัวใจวายขณะออกกำลังกาย หรือเหตุการณ์นัก วิ่งหัวใจวาย เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีท่านใดอยากให้เกิดขึ้น เพราะอาจส่งผลได้รุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้ถ้าได้รับความช่วยเหลือไม่ทัน
เราทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าการออกกำลังกายนั้น ทำให้สุขภาพดีขึ้น หัวใจแข็งแรงขึ้น แล้วทำไมเราถึงยังได้ข่าวเรื่อง นักวิ่งระยะไกลเกิดภาวะหัวใจวายระหว่างแข่งขันกันอยู่เรื่อยๆ ?
เราลองมาดูกันครับว่าอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายนั้นจริงๆ อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่
มีงานวิจัยที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการแข่งขันมาราธอน และฮาล์ฟมาราธอนทั่วอเมริกาเป็นระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2000-2010 พบว่ามีนักวิ่งที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น 59 คน จากทั้งหมด 11 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วน 1/184,000 แต่เมื่อลองเปรียบเทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในเมืองไทยที่อยู่ที่ประมาณ 1/10,000 ซึ่งสูงกว่าเกือบ 20 เท่าเลยนะครับ ผมว่าเหตุผลที่เราพบเห็นข่าวนักวิ่งเสียชีวิตระหว่างแข่งขันบ่อยขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัจจุบันมีนักวิ่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากครับ
ย้อนกลับมาที่งานวิจัยที่ทำการเก็บข้อมูลจากนักวิ่งที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นทั้งหมด 59 คน ซึ่งได้ผลสรุปดังนี้
- 40 คนเกิดอาการขณะวิ่งมาราธอน และอีก 19 คนเกิดอาการขณะวิ่งฮาล์ฟมาราธอน
- อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 42 ปี
- ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย (86%)
- มักจะเกิดอาการในช่วง ¼ ของระยะทางก่อนเข้าเส้นชัย
- มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 71% หรือ 42 คนจากทั้งหมด
- สาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือ ภาวะผนังหัวใจหนาผิดปกติ ส่วนผู้ที่รอดชีวิตนั้นพบว่า สาเหตุหลักเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือด
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตจะดูสูง (71%) แต่ก็ยังน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นทั่วๆ ไป (ในชีวิตประจำวัน) ซึ่งอยู่ที่ 90% ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าระบบการปฐมพยาบาลเบื้องต้นของการแข่งขัน ในอเมริกานั้นมีการเตรียมการ และมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง ความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่าในบ้านเรา ถึงแม้การเตรียมความพร้อมจะยังไม่เทียบเท่าอเมริกา แต่ถ้าเพื่อนๆ พี่ๆ นักวิ่งช่วยกันแนะนำให้ผู้จัดการแข่งขัน เห็นถึงความสำคัญ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคตอย่างมากครับ เนื่องจากการ วิ่งหัวใจวาย เป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เจ้าหน้าที่จึงควรเตรียมความพร้อมไว้เสมอ
หากมีอาการเหล่านี้ ควรหยุดวิ่งทันที
สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าอัตราการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นนั้นจะไม่สูงมากก็ตาม แต่ถ้าเรารู้อาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุ หลักเอาไว้ก่อน ก็น่าจะช่วยป้องกันได้ในระดับนึงครับ ท่านไหนที่เริ่มมีอาการ “เจ็บหน้าอก วิงเวียน เหมือนจะเป็นลม หรือหายใจไม่ออก” ทางที่ดีก็ควรที่จะชะลอความเร็ว หยุดวิ่ง และบอกคนรอบข้างไว้ก่อนนะครับ
วิ่งหัวใจวาย ช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างไร
ส่วนท่านไหนที่เห็นเพื่อนนักวิ่งล้มลงไปขณะวิ่ง ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้นก็คือ
- ดูว่ารู้สึกตัวอยู่หรือไม่ โดยเขย่าที่ตัวเบาๆ
- ถ้าไม่รู้สึกตัว ให้ตะโกนขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง และแจ้งหน่วยปฐมพยาบาล หรือเรียกรถพยาบาล
- เช็คชีพจรว่ายังเต้นอยู่หรือไม่ โดยใช้นิ้วแตะที่เส้นเลือดใหญ่ด้านข้างคอ (ถ้าไม่มั่นใจ ไม่ต้องคลำชีพจรก็ได้ครับ ให้เริ่มปั๊มหัวใจได้เลย ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก คุณ pachara pim gomez ครับ)
- ถ้าไม่มีชีพจร ก็ปั๊มหัวใจได้เลยครับ โดยกดที่บริเวณกระดูกหน้าอก ประมาณ 100 ครั้งต่อนาที โดยไม่จำเป็นต้องผายปอดนะครับ
แค่นี้ก็สามารถช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับเพื่อนนักวิ่งด้วยกันได้มากแล้วครับ แต่ยังไงก็ขออย่าให้เจอเลยนะครับ