การมีสุขภาพดี ตามความหมายขององค์การอนามัยโลก คือการที่มีความสมบูรณ์ทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยการป้องกันการเจ็บป่วย การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องด้วยความรวดเร็ว การรักษาโรค การป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และการฟื้นฟูความพิการที่ยังหลงเหลืออยู่
ปัจจุบันประชากรโลกมีอัตราส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ประเทศไทยก็เช่นกัน พบว่าประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรมีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งจัดว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุ เมื่ออายุยืนยาวขึ้น จำนวนผู้ป่วยเรื้อรังและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่น ย่อมมีมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยสโตรก 2 ใน 3 อาจจะเกิดความพิการไปตลอดชีวิต หากมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป
โรคหลอดเลือดสมอง คือภาวะหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก จนไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ มีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น เมื่อมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคเครียด โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหัวใจ
4 อาการและสัญญาณเตือนของสโตรก (F.A.S.T.)
- FACIAL PALSY: มีอาการกล้ามเนื้อที่หน้าอ่อนแรง ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท น้ำลายไหล มุมปากตก ไม่สามารถยิงฟันหรือยิ้มได้
- ARM DRIP: แขนหรือขาอ่อนแรง ซีกใดซีกหนึ่ง ยกไม่ขึ้น หรือยกขึ้นค้างได้ ไม่นานก็ตกลง
- SPEECH: พูดลำบาก พูดจาติดๆ ขัดๆ พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก
- TIME: นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะการให้ยาสลายลิ่มเลือดต้องทำภายในเวลาไม่เกิน 4-5 ชั่วโมง
สัญญาณเตือนที่ควรรีบมาพบแพทย์
หากมีอาการ เช่น เวียนศีรษะหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ความดันโลหิตสูงหรือรู้สึกเหนื่อยอย่างฉับพลัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา ทรงตัวลำบาก หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีกบริเวณใบหน้าและแขนขา พูดลำบาก ความจำเสื่อมชั่วคราว มองเห็นภาพซ้อน ตาบอดข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง ชั่วครู่ชั่วคราวแล้วหายเป็นปกติได้เอง อาจเป็นภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว หรือ TIA (Transient Ischemic Attack) ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดแดงอุดตัน จนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ชั่วขณะ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) แต่ต่างกันตรงที่ TIA มักไม่ทำให้สมองเกิดความเสียหายอย่างถาวร แต่ ภาวะนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนก่อนเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตันได้ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ดังนี้
- ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ ได้แก่ อายุและเพศ การที่มีอายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ รวมถึงหลอดเลือดย่อมเสื่อมตามสภาพร่างกาย และพบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าเพศหญิง
- ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ได้แก่ โรคอ้วนและขาดการออกกำลังกาย โรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ และไขมันในเลือดสูง บุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น
การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์จำพวกผักผลไม้ให้มากขึ้น และเน้นอาหารจำพวกเนื้อปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เนื่องจากโอเมก้า 3 ในปลาช่วยลดการอักเสบซ่อนเร้น และมีไขมันที่ดีต่อสุขภาพ
- ลดการบริโภคอาหารไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์
- ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งต้องดูแลทั้งด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย รวมทั้งการใช้ยารักษาอย่างเหมาะสม
- ลดหรือจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ให้เกิน 1-2 ดื่มมาตรฐาน/วัน และเลิกสูบบุหรี่ อย่างเด็ดขาด
- ดูแลสุขภาพอนามัย และฟื้นฟูร่างกาย โดยการทำกายภาพบำบัด ทั้งนี้หากการไปโรงพยาบาลเป็นเรื่องยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง อาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยเทคโนโลยีสื่อสาร หรือ Stroke TeleCare
การรักษาโรคหลอดหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดโรคคือการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในกรณีผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง การดูแลไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ รวมถึงฟื้นฟูภาวะอัมพฤกษ์อัมพาต ถือเป็นสิ่งสำคัญ
การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่ดูแลตัวเองไม่ได้นั้น ต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างสถานพยาบาลและครอบครัว การดูแลที่ดีจะลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน ความพิการและการเสียชีวิต แต่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยและครอบครัว การดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาลมีความพร้อมและประสิทธิภาพดีกว่าการดูแลที่บ้าน แต่การดูแลผู้ป่วยที่บ้านสะดวกและประหยัดมากกว่า
การให้ความรู้และการสนับสนุนผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น การใช้เทคโนโลยีทางการสื่อสารจะช่วยลดความแตกต่างระหว่างการดูแลที่บ้านและการรักษาภายในโรงพยาบาลได้