จากสถิติการเสียชีวิตด้วยโรคร้ายในประเทศไทยพบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของโรคทางระบบประสาท ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต หรือไม่ก็เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต แนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี
รู้จักโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เกิดจากภาวะหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ส่งผลให้สมองขาดเลือดและเนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย สามารถเกิดได้กับทุกส่วนของสมอง ดังนั้นหากสมองส่วนใดขาดเลือด จะส่งผลให้ร่างกายหยุดทำงาน เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต โรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ (Thrombotic Stroke) หรือจากการอุดตัน (Embolic Stroke) ส่งผลให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด พบมากถึง 80% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด
- โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke) เกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด ทำให้มีเลือดไหลไปยังเนื้อเยื่อสมอง แม้จะพบเพียง 20% แต่ก็มีอันตรายถึงชีวิต
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง มีทั้งปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้และปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้ ดังนี้
1. ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
- อายุ ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี มีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากภาวะเสื่อมของหลอดเลือดและภาวะหลอดเลือดแข็งตัว
- เพศ เพศชาย มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าเพศหญิง
- กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคในขณะที่มีอายุยังน้อย
2. ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้ เกิดจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิต
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- สูบบุหรี่
- โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคอ้วน
อาการโรคหลอดเลือดสมอง
- ภาวะอ่อนแรง ส่วนใหญ่มักพบภาวะอ่อนแรงครึ่งซีกกับร่างกายข้างใดข้างหนึ่ง
- สูญเสียความรู้สึกหรืออาการชาตามร่างกาย มักเกิดกับร่างกายเพียงด้านเดียว
- พูดติดขัด มีปัญหาการพูด
- ไม่สามารถทรงตัวได้ มีอาการเดินเซ หรือเวียนศีรษะ
- สูญเสียการมองเห็นบางส่วน หรือเห็นภาพซ้อน
โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน บางกรณีอาจเกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว โดยแสดงอาการเพียงครั้งคราวแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดบ่อยๆ ก่อนมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร
FAST วิธีสังเกตอาการของโรคหลอดเลือดสมอง
อาการเตือนสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเองตามหลักที่จำได้ง่ายคือ F A S T ดังนี้
F Face ใบหน้ามีอาการชาหรืออ่อนแรง ใบหน้ายิ้มแล้วมุมปากตก
A Arm แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ยกแขนไม่ขึ้น
S Speech พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว
T Time หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
สัญญาณเตือน FAST ถือเป็นสิ่งจำเป็นพึงจดจำ หากพบอาการหนึ่งอาการใดข้างต้น ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เนื่องจากเซลล์สมองขาดเลือดเพียง 1 นาที ส่งผลให้เซลล์สมองตายมากถึง 2 ล้านเซลล์ ดังนั้นการเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต รวมถึงการเสียชีวิตได้
ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว Treating a Transient Ischemic Attack (TIA)
หากอาการต่างๆ ที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นและหายไปเพียงไม่กี่นาที อาจเกิดจากภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมองที่ร้ายแรงในภายหลังหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์
ดังนั้นไม่ควรเพิกเฉยหรือมองข้ามภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวเด็ดขาด แม้อาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือหายไปเอง ควรต้องพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยทันที
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุดคือการลดปัจจัยเสี่ยง โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ชีวิต ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนัก ไม่ปล่อยให้เป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมากมาย รวมทั้งโรคหลอดเลือดสมอง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ที่มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง รวมถึงอาหารรสเค็มจัด สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองให้มากขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนัก ช่วยให้ไขมันในเลือดและความดันโลหิตลดลงได้ โดยควรออกกำลังกายที่เหมาะสมสม่ำเสมออย่างน้อย สัปดาห์ละ 150 นาที
- เลิกบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หากไม่สามารถเลิกได้ด้วยตนเองการพบแพทย์ก็เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ
- ลดปริมาณแอลกอฮอล์ โดยผู้ชายไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 แก้ว และผู้หญิงไม่เกินวันละ 1 แก้ว
- ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน โดยการพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ และปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
- ไม่ละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาโรคที่อาจซ่อนเร้นในร่างกาย หากพบก่อนย่อมมีทางรักษาให้หายขาดหรือสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง
- ซักประวัติและตรวจร่างกาย
- ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan brain) เพื่อดูว่าภาวะสมองขาดเลือดหรือตรวจว่ามีเลือดออกในสมองหรือไม่
- ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI brain) สามารถเห็นภาพสมองส่วนขาดเลือด ซึ่งสำคัญมากต่อการเลือกวิธีการรักษาต่อไป
- ฉีดสารทึบรังสี (Cerebral angiography) เพื่อตรวจหลอดเลือดสมอง โดยการสอดใส่สายสวนหลอดเลือดแดงเข้าทางขาหนีบไปยังหลอดเลือดคอ จากนั้นฉีดสารทึบรังสี เพื่อดูการอุดตันของหลอดเลือดสมอง
- ตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) การเจาะน้ำไขสันหลังด้วยเข็มชนิดพิเศษ บริเวณกระดูกสันหลังช่วงเอว เพื่อวินิจฉัยภาวะเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มสมอง
- อัลตราซาวนด์หลอดเลือด (Ultrasonography) โดยการอัลตราซาวนด์หลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอและสมอง เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือด
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
- การรักษาด้วยยา ใช้รักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นโรคหลอดเลือดสมองอีก โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อช่วยละลายลิ่มเลือดที่อุดตัน เลือดจะได้ไหลเวียนสะดวกขึ้น หากได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว อาจสามารถกลับมาเป็นปกติได้
- การผ่าตัด เพื่อนำไขมันอุดตันในหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมองออก (Carotid endarterectomy) เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด ซึ่งเกิดจากไขมันในเส้นเลือดที่ทำให้หลอดเลือดแดงบริเวณคอตีบแคบ จนไม่สามารถนำเลือดไปเลี้ยงสมอง
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุดคือการลดปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ด้วยตัวเอง พบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำทุกปี รวมถึงการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย โดยเฉพาะสัญญาณเตือน FAST ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรอด