สุขภาพทั่วไป

คุณภาพการนอนสำคัญไฉน ตอนที่ 1

Views

หนึ่งเรื่องที่สำคัญของชีวิตที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือเรื่องของการ “นอน” เพราะนี่คือช่วงเวลาพักผ่อนของร่างกายและยังเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายทำการซ่อมแซมตัวเองอีกด้วย แต่ด้วยไลฟ์สไตล์รวมถึงภาระหน้าที่ของคนในยุคปัจจุบัน อาจเป็นเรื่องยากที่จะนอนได้อย่างมีคุณภาพจริงๆ

เรื่องการนอนดึก นับเป็นเรื่องที่ใหญ่มากในวงการแพทย์ มีงานวิจัยและบทความทางการแพทย์ระบุว่า ปัญหาสุขภาพและโรคต่างๆ ส่วนหนึ่งมาจากการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ หรือไม่มีคุณภาพ เช่น นอนไม่หลับ หยุดหายใจขณะหลับ นอนหลับไม่ลึก ซึ่งการนอนดึกก็จัดเป็นหนึ่งในปัญหาการนอนด้วยเช่นกัน ทุกอย่างจะรวมเรียกว่า การขาดชั่วโมงการนอน หรือ Sleep Deprivation

Q: การนอนดึกส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร?

A: มีงานวิจัยออกมามากมายว่า ถ้าคนเรามีการนอนที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากกว่าหรือเท่ากับคนที่สูบบุหรี่ คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและคนที่เป็นโรคหัวใจเลยทีเดียว ผลกระทบในแต่ละด้าน ได้แก่

สำหรับผู้ใหญ่

  • ผลกระทบในด้านสุขภาพ – คนนอนดึกจะเสี่ยงต่อการมีโรคหลายโรค ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง ความอ้วน และยังมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ความผิดปกติทางอารมณ์ โรคซึมเศร้าต่าง ๆ ด้วย รวมไปถึงเรื่องของการประสบอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่เราพบเห็นได้บ่อยในปัจจุบัน
  • ผลกระทบด้านหน้าที่การงานและสังคม – ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งใดๆ ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง คิดได้ช้าลง ตัดสินใจได้ช้า และยังกระทบถึงความสัมพันธ์ในชีวิตคู่อีกด้วย

สำหรับเด็ก

  • ผลกระทบในด้านสุขภาพและการเรียนรู้ – เด็กที่ได้รับการนอนหรือพักผ่อนที่ไม่เพียงพอก็จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต อาจมีสมาธิสั้น ทำให้ทักษะการเรียนรู้ที่แย่ลง

จะเห็นได้ว่าการนอนดึกส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในหลายๆ ด้าน ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมไปถึงการส่งผลให้อายุสั้นลงได้ด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุผลให้เรามีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงทั้งสิ้น

Q: การนอน ที่เหมาะสมควรอยู่ที่กี่ชั่วโมง?

A: แต่ละคนจะต้องการเวลานอนไม่เท่ากัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วการนอนที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 6 – 7 ชั่วโมง ถ้าน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ถือว่าไม่เหมาะสมนัก ยิ่งถ้าเป็นเด็ก ยิ่งจะต้องนอนให้นานกว่านั้น ซึ่งจุดแบ่งก็คือ คนที่นอนน้อยกว่า 6 – 7 ชั่วโมง/วัน บ่อยๆ ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีปัญหาสุขภาพได้

Q: เด็กๆ มีโอกาสเกิดปัญหาเรื่อง การนอน ด้วยหรือไม่?

A: แน่นอนว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว เราจะเข้าใจว่าปัญหาเรื่องการนอนจะพบได้ในผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่ต้องทำงาน ต้องทำกิจกรรมมากมายในแต่ละวันซึ่งทำให้เครียดได้ง่าย จึงน่าจะมีปัญหาการนอนมากกว่าเด็กๆ ที่ไม่ค่อยเครียด แต่ความจริงแล้วปัญหาการนอน ณ ปัจจุบันสามารถพบได้ทุกช่วงวัย แม้แต่เด็กวัยอนุบาลก็ตาม จนทำให้ทุกวันนี้กุมารแพทย์ต้องหันมาสนใจในเรื่องของคุณภาพการนอนของเด็กๆ มากขึ้น

การนอนที่มีปัญหานี้สำหรับเด็กแล้วส่งผลโดยตรงกับการเรียนรู้และการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งส่วนหนึ่งเราพบว่าเด็กหลายคน มีปัญหาเรื่องของการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ มีโรคต่อมอะดีนอยด์โต (Adenoid) และภาวะนอนกรนในเด็ก อย่างการนอนกรนของเด็กนั้นผู้ใหญ่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ แล้วการที่เด็กนอนกรนนั้นไม่ใช่สัญญาณที่ดีนักเพราะอาจจะมีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับได้

Q: ปัญหาการนอนนั้น แพทย์สามารถรักษาได้หรือไม่?

A: ปัญหาการนอนนั้นนับเป็นเรื่องที่ใหญ่และมีความซับซ้อนมาก เป็นปัญหาที่จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่างๆ เข้ามาช่วยจัดการแก้ไขปัญหา เนื่องจากว่ากลไกการนอนของคนเรานั้น เป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ทั้งหมดว่าทำไมจึงเกิดปัญหา และถ้าเกิดปัญหาแล้วจะแก้ได้อย่างไร ในทางการแพทย์มีเพียงการสันนิษฐานและการตั้งสมมุติฐานขึ้นมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราวิเคราะห์ปัญหาได้ในเบื้องต้นยังไม่มีความชัดเจนที่เฉพาะแน่นอน นอกจากจะมีความซับซ้อนแล้วยังมีหลายประเภทอีกด้วย ทั้งนอนหลับยาก การตื่นขึ้นกลางดึก พฤติกรรมการนอนหรือชั่วโมงการนอนที่ไม่สมดุล ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีวิธีการดูแลแตกต่างกันไป

สาเหตุก็มีได้หลากหลายทั้งสภาพทางจิตใจ ปัญหาทางอารมณ์ ความเครียด หรือแม้แต่โรคทางกายอย่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้คุณภาพการนอนแย่ลง บางครั้งหาสาเหตุไม่พบก็มี จึงต้องตอบว่าปัญหาการนอน ในทางการแพทย์สามารถรักษาและแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ตอบโจทย์ครอบคลุมทั้งหมด

Q: การรับประทานอาหารเสริม หรือวิตามินเสริม สามารถช่วยแก้ปัญหาการนอนได้หรือไม่?

A: จริงๆ แล้ว ถ้ามีปัญหาเรื่อง การนอน ถ้าจะแก้ก็ต้องแก้ที่การนอนเป็นหลัก ใครนอนดึกก็ต้องฝึกตนเองให้นอนเร็ว ถ้าใครจำเป็นที่จะต้องนอนดึกจริงๆ แล้วจะต้องตื่นเช้าด้วย ก็แนะนำว่าอาจจะต้องมีการใช้วิธีการพักระหว่างวันบ่อยๆ อย่างในช่วงบ่ายสักครึ่งชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมงถ้าเป็นไปได้ เพราะช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนคอร์ติซอลเริ่มลดลง ซึ่งถ้าทำได้ ร่างกายก็จะปรับระดับฮอร์โมนต่างๆ ให้สมดุลขึ้น ซึ่งช่วยให้ร่างกายกลับมารู้สึกสดชื่นอีกครั้ง หลังจากนั้นก็พยายามกลับมานอนให้ตรงเวลาอีกครั้ง

ส่วนวิตามินที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ก็สามารถช่วยได้เหมือนกัน ทั้งประเภทวิตามิน B รวมต่างๆ หรือสารสกัดจากธรรมชาติอย่างพืชสมุนไพรบางอย่างในกลุ่ม Adaptogenic Herb ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่ช่วยปรับให้ร่างกายรับมือกับความเครียดได้ ที่นิยมกันในปัจจุบันก็คือ Ashwagandha หรือโสมอินเดีย ซึ่งช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นมากขึ้น กรณีถ้ามีความเครียดสูงก็มีการใช้แมกนีเซียมเข้ามาช่วย หรืออาจจะใช้สารสกัดอื่น ๆ เช่น  GABA เป็นต้น สารธรรมชาติเหล่านี้จะช่วยให้เรานอนหลับดีขึ้น ลดความเครียดลงได้ และช่วยปรับสมดุลร่างกาย