สุขภาพกาย

ทำความรู้จัก แบคทีเรียกินเนื้อคน

Bacteria flowing with depth of field. Can also be used as plant cells.
Views

โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) หรือที่รู้จักกันดีว่า โรคแบคทีเรียกินเนื้อ (Flesh-eating disease) เป็นการอักเสบอย่างรุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง และแพร่กระจายไปยังชั้นเนื้อเยื่อต่างๆ ตลอดจนกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เป็นสาเหตุให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ติดเชื้อตาย หากปล่อยทิ้งไว้ อาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

สาเหตุของ โรคแบคทีเรียกินเนื้อ

โรคแบคทีเรียกินเนื้อ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย  ซึ่งอยู่ตามสิ่งแวดล้อมโดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายจากบาดแผลบริเวณผิวหนัง เช่น ได้รับอุบัติเหตุ ถูกตะปูหรือหนามตำ ถูกแมลงกัด สัตว์เลี้ยงข่วนแล้วไม่ทำความสะอาดให้ดี หรืออุปกรณ์ทำแผลไม่สะอาด แบคทีเรียที่ทำให้เกิดภาวะนี้บ่อยๆ ได้แก่

  • สเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A streptococci)
  • เคล็บเซลลา (Klebsiella)
  • คลอสตริเดียม (Clostridium)
  • อีโคไล (E.coli)
  • สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
  • แอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila)
  • วิบริโอ (Vibrio)

และกลุ่ม Anaerobic bacteria หรือแบคทีเรียที่ไม่ต้องการอากาศ

การเกิดโรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) สามารถเกิดได้จากแบคทีเรียชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกันได้ แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุและพบบ่อยคือ สเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A streptococci) ซึ่งแบคทีเรียแต่ละชนิดมีความรุนแรง สามารถก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

  • เจ็บ ปวด บริเวณแผลอย่างมาก โดยความเจ็บปวดไม่สัมพันธ์กับบาดแผลที่เกิดขึ้น
  • ภาวะบวมแดงบริเวณผิวหนังรอบๆ บาดแผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • บาดแผลกลายเป็นสีคล้ำ หรือมีถุงน้ำเกิดขึ้น คลำได้ฟองอากาศในเนื้อเยื่อ
  • เมื่อเนื้อเยื่อเริ่มตาย เส้นประสาทบริเวณผิวหนังอาจถูกทำลาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาแทนที่อาการปวด
  • ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณขาและเท้า พร้อมบริเวณที่พบบาดแผล
  • มีไข้สูง
  • อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือด และไตวาย
  • หากเกิดในเด็กเล็กมักแสดงออกด้วยอาการหงุดหงิดง่าย งอแงมากผิดปกติ

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

  • ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็ก และผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยเรื้อรัง โรคเบาหวาน ภาวะไตวาย โรคหัวใจ มะเร็ง หรือ ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ยาเคมีบำบัด ยาสเตียรอยด์
  • ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่มีบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย แต่ขาดการดูแลรักษาที่ดี หรือละเลยการทำความสะอาดแผล
  • กลุ่มเกษตรกรและชาวนา ที่ต้องสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในดินหรือน้ำ และอาจเกิดบาดแผลในระหว่างการทำงาน

การวินิจฉัยโรค

เนื่องจากอาการแสดงในระยะแรกของโรคแบคทีเรียกินเนื้อนั้นมักไม่มีความเฉพาะเจาะจง ทําให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษาล่าช้า ซึ่งอาการที่จำเพาะเจาะจงของโรคแบคทีเรียกินเนื้อ คือ ผิวหนังบริเวณติดเชื้อมีสีคล้ำ หรือเน่าตาย ผิวหนังพองเป็นตุ่มหรือถุงน้ำ คลำได้ฟองอากาศในเนื้อเยื่อ และชาบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อ ซึ่งมักพบอาการดังกล่าวได้ในระยะท้ายของโรค

ดังนั้น หากเกิดบาดแผลติดเชื้ออย่างรุนแรงและลุกลามอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีไข้ ควรรีบเข้ารับการวินิจฉัยโดยแพทย์ทันที   ซึ่งแพทย์จะนำชิ้นเนื้อหรือน้ำเหลือง หนองจากบาดแผลส่งเพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคและให้การรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว

การรักษา โรคแบคทีเรียกินเนื้อ

  • การผ่าตัด เพื่อนำส่วนเนื้อเยื่อที่มีการตายออกให้มากที่สุด บางกรณีที่ติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะส่วนที่ติดเชื้อ
  • ใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามแบคทีเรียที่ติดเชื้อ เพื่อหยุดการลุกลาม และป้องกันการดื้อยาของเชื้อที่เป็นสาเหตุ

การป้องกันโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

  • ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผล แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรรีบทำความสะอาดแผลอย่างถูกวิธี ด้วยอุปกรณ์ที่สะอาดและปลอดเชื้อโรค
  • รีบพบแพทย์ทันที หากแผลบวมแดง เจ็บปวดมาก รวมถึงมีไข้ หรือพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
  • ควบคุมน้ำหนักและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมโรคเรื้อรัง โดยการพบแพทย์ตามนัด และปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ
  • ไม่ควรรับประทานยาปฏิชีวนะ(Antibiotic) ถ้าไม่มีข้อบ่งใช้เพราะจะก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้

แม้จะพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าหรือ โรคแบคทีเรียกินเนื้อ มานานแล้ว  แต่สำหรับประเทศไทยมักพบผู้ป่วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือโรคเนื้อเน่า ในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีแมลงชุกชุม โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 มีรายงานข่าวพบผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ซึ่งในจังหวัดน่านมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อมากถึง 51 ราย และเสียชีวิต 5 ราย ทั้งนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

แต่เมื่อผู้ติดเชื้อเป็นคนที่เป็นที่รู้จักรวมถึงโลกโซเชียลพร้อมใจกันเสนอข่าว ทำให้หลายๆ คนได้รู้จักกับโรคและระมัดระวังตัวมากขึ้น เนื่องจากเป็นโรคที่ติดเชื้อเพียงถูกแมลงหรือสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วนเพียงเล็กน้อย แต่อาการกลับรุนแรงจนถึงกับชีวิตหรือเกิดภาวะทุพพลภาพได้สูง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที