มะเร็งกระเพาะอาหาร

“มะเร็งกระเพาะอาหาร” ภัยเงียบที่หลายคนมองข้าม

Views

 

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น และเพศชายมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า

  • อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาหารไม่ย่อยเป็นประจำ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร แสบร้อนบริเวณหน้าอกอาการอาจป็นอาการเริ่มแรกของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

  • การผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหารผ่านกล้องเป็นวิธีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ สำหรับมะเร็งระยะแรกเริ่ม หรือขนาดไม่ใหญ่มาก ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บแผลน้อยลง

มะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร จนแพร่กระจายไปสู่อวัยวะข้างเคียง โดยสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกบริเวณของกระเพาะอาหาร  ซึ่งมีบางตำแหน่งที่สามารถรักษาให้หายขาดได้


สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง 
มะเร็งกระเพาะอาหาร 

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารแปรรูป และอาหารปิ้งย่าง รวมถึงมีปัจจัยส่งเสริมความเสี่ยงของการเกิดโรค ดังนี้

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น

  • เพศชายมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า

  • ผู้มีประวัติบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

  • การติดเชื้อ Pylori แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหารและสร้างภาวะอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังอาจนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

  • ผู้ที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร

  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคโลหิตจางบางชนิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง

  • การสัมผัสฝุ่น สารเคมี และสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน

  • สูบบุหรี่เป็นประจำ


อาการ
 โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นภัยร้ายที่แฝงตัวเงียบ โดยมักไม่มีอาการในระยะแรก กว่าจะรู้ตัวก็เกิดอาการรุนแรงและลุกลามไปตามอวัยวะใกล้เคียง ดังนั้นควรสังเกต หากมีอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาหารไม่ย่อยเป็นประจำ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร แสบร้อนบริเวณหน้าอก หากปล่อยไว้โรคอาจรุนแรงขึ้น   จึงควรพบแพทย์ทันทีที่พบอาการผิดปกติ ดังนี้

  • อุจจาระมีเลือดปน

  • อาเจียน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

  • น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่มีสาเหตุ

  • ปวดท้อง และอ่อนเพลีย โดยเฉพาะหลังจากรับประทานอาหาร
 


การวินิจฉัย
 โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

  • แพทย์ทำการซักประวัติและการตรวจร่างกายเบื้องต้น

  • ตรวจห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดหรือประเมินภาวะซีด การตรวจเลือดในอุจจาระ เป็นต้น

  • การเอกซเรย์กลืนแป้ง (Double-contrast barium swallowing) เมื่อเอกซเรย์จะทำให้มองเห็นก้อนเนื้อหรือสิ่งแปลกปลอมผิดปกติภายในกระเพาะอาหาร

  • การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น (Gastroscopy) หากสงสัยสามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจให้แน่ชัดได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบวิธีส่องกล้องกับการเอกซเรย์กลืนแป้งแล้ว พบว่าวิธีนี้มีความถูกต้องแม่นยำสูงกว่า

  • การส่องกล้องด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Endoscopic ultrasonography; EUS) โดยสามารถเห็นชั้นของกระเพาะอาหารและทำให้ทราบการลุกลามของมะเร็งที่แน่นอนได้ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของช่องท้อง (Computer tomography; CT) สามารถเห็นภาพอวัยวะภายในแบบสามมิติ ช่วยให้เห็นตำแหน่งและการกระจายของโรคไปยังอวัยวะต่างๆ ได้ชัดเจน

  • การตรวจความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี (PET Scan) เป็นการตรวจ ทั่วทั้งร่างกาย สามารถเห็นพยาธิสภาพที่กระเพาะอาหารได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถตรวจหาการแพร่กระจายของ โรคมะเร็งไปได้พร้อมกัน


การรักษา
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แบ่งตามระยะของโรค ดังนี้

  • ผู้ป่วยระยะแรก อาจไม่แสดงอาการ แต่มาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นท้อง ท้องอืด หรือจากการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งระยะเริ่มต้นนี้ สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด โดยใช้กล้องส่องทางเดินอาหารเข้าไปตัดเฉพาะเยื่อบุกระเพาะอาหารที่ผิดปกติ ซึ่งมีโอกาสหายขาดสูงมาก

  • ผู้ป่วยระยะที่มะเร็งเริ่มมีขนาดโต แต่ยังไม่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก โดยการเอามะเร็งและต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออก ทั้งนี้อาจมีการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย

  • ระยะที่มะเร็งลุกลามไปติดอวัยวะข้างเคียง เช่น ในผนังช่องท้อง ซึ่งเมื่อก่อนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด แต่ปัจจุบันสามารถใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับความร้อน มาช่วยในการผ่าตัด (HIPEC) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดมากขึ้น

  • ระยะสุดท้าย หรือระยะมะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ ระยะนี้ไม่สามารถผ่าตัดและไม่สามารถรักษาให้หายขาด แพทย์มักพิจารณาให้การรักษาด้วยเคมีบำบัด เพื่อควบคุมโรคและลดอาการของโรค


ในปัจจุบันการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหารสามารถทำได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้อง (Open surgery) หรือผ่าตัดผ่านกล้องเป็นวิธีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ สำหรับมะเร็งระยะแรกเริ่มหรือขนาดไม่ใหญ่มาก การผ่าตัดผ่านกล้องจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นจากอาการผ่าตัดได้เร็ว เจ็บแผลน้อยลง ลดระยะเวลาการพักรักษาที่โรงพยาบาลได้ ซึ่งต้องทำโดยศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดผ่านกล้อง

ทั้งนี้การ ผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกระเพาะอาหารแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ทำเคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงโรคกำเริบและไม่กลับมาเป็นซ้ำ รวมถึงควบคุมโรคมะเร็งไม่ให้แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ซึ่งอาจมีผลกระทบข้างเคียงจากการให้ยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ดังนั้นผู้ป่วยควรพักผ่อนมาก ๆ รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและดื่มน้ำให้เพียงพอ รวมถึงทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียดหรือวิตกกังวลมากเกินไป ข้อสำคัญคือต้องติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ