สำหรับคนอายุน้อยส่วนใหญ่มักคิดว่า “โรคเบาหวาน” เป็นเรื่องไกลตัว เพราะคิดเอาเองว่า “เบาหวาน” เป็นโรคของคนอายุมาก หรือไม่ก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจ คิดว่ายังไม่ต้องรู้อะไรเกี่ยวกับเบาหวานก็ได้จนกว่าจะเป็น โดยคุณไม่เคยรู้เลยว่าแค่คิดแบบนี้ คุณก็เริ่มเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว
เบาหวานเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย
หลายๆคนอาจจะรู้กันดียู่แล้วว่า โรคเบาหวานเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินให้เพียงพอหรืออินซูลินทำหน้าที่บกพร่องจึงไม่สามารถเอาน้ำตาล (ที่ได้จากอาหารจำพวกแป้งหรือของหวาน) ไปใช้ให้เกิดเป็นพลังงานแก่ร่างกาย ได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป โดยค่าน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หากมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. หรือ หากตรวจโดยไม่อดอาหารมาก่อนแล้วมีค่ามากกว่า 200 มก./ดล. ก็ถือว่ามีความเสี่ยงเบาหวานทั้งสิ้น และการที่น้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานๆ ก็เป็นเหตุให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเสียหน้าที่และเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ โดยเฉพาะที่ ตา ไต ประสาทส่วนปลาย หัวใจ และหลอดเลือด
โรคเบาหวานแบ่งตามสาเหตุการเกิดได้ 4 ชนิด ดังนี้
- เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากขาดอินซูลิน ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทน มักเกิดในคนอายุน้อยและผอม พบได้ไม่มากประมาณ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์
- เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากการขาดอินซูลินบางส่วนหรืออินซูลินทำหน้าที่บกพร่อง (ดื้อต่อฤทธิ์ของอินซูลิน) มักเกิดในผู้ใหญ่และผู้ที่มีน้ำหนักเกิน แต่ปัจจุบันพบได้มากขึ้นในเด็กที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งอาจเริ่มรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และใช้ยาลดระดับน้ำตาล
- เบาหวานชนิดอื่นๆ เช่น เกิดจากการใช้ยาบางชนิด ตับอ่อนอักเสบ ติดเชื้อไวรัสบางชนิด
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์
คุณ! เป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่ละเลยในการหาข้อมูลเกี่ยวกับเบาหวาน
เพราะคิดว่า ถ้าร่างกายไม่ได้ผิดปกติเสียอย่าง แล้วจะสนใจทำไม..
จริงๆแล้วเบาหวานเป็นเหมือนภัยเงียบที่ปฏิบัติการทำร้ายสุขภาพเราอย่างลับๆ แต่อำมหิต!!! เพราะกว่าจะรู้ตัวอีกที มันก็ชักนำพาโรคร้ายแรงหลายโรคมารุมเร้าเราจนบอบช้ำ โดยเริ่มต้นภารกิจลับจากการเดินทางตามหลอดเลือดอย่างเงียบๆ ไปทักทายทุกส่วนของร่างกาย ใช่ … ร่างกายที่อาจจะดูยังไงก็ไม่แก่ ร่างกายที่ดูสมบูรณ์แข็งแรง แต่หารู้ไม่ว่าความผิดปกติในร่างกายกำลังเริ่มต้นนับถอยหลังอย่างไม่รู้ตัว และแทนที่ความรู้เรื่องเบาหวานจะทำให้คนเป็นโรคนี้น้อยลง ก็กลายเป็นว่าจำนวนคนเป็นโรคเบาหวานกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคนอายุน้อย
รู้ตัวช้าส่งผลกับการรักษาอย่างไร?
เบาหวานทำให้ระบบการทำงานของร่างกายทั้งระบบเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะว่าน้ำตาลจะเดินทางไปตามเส้นเลือด ทุกอณูในร่างกายของผู้ที่เป็นเบาหวานจึงเต็มไปด้วยน้ำตาล น้ำตาลในปริมาณที่พอเหมาะก็มีข้อดีคือช่วยให้เซลล์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ถ้าน้ำตาลเหล่านี้มากเกินไปล่ะก็ น้ำตาลที่ย่อยไม่หมดก็จะแปรสภาพไป ทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติ จนเกิดเป็นโรคแทรกซ้อนตามมา
หากเราเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวมา 8 ปี นั่นคือเราไม่ได้รักษา สิ่งที่เบาหวานไปทำลายและทำร้ายไปเยอะแล้ว เช่น ตาเสีย ไตเสีย เส้นเลือดหัวใจเริ่มตีบ หลอดเลือดสมองเริ่มตีบ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ไม่มีอาการทั้งสิ้น คนส่วนใหญ่ก็มักเชื่อว่าตัวเองรู้สึกสบายดี คิดว่าแข็งแรง ทั้งที่โรคมาแล้ว นี่ล่ะจึงมีคำว่า “คัดกรองโรคเบาหวาน” คือไปตรวจสุขภาพเพื่อดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ แต่ถ้าเป็นรายที่มีอาการแล้ว เช่น ตามัว ไปตรวจตา ถึงเพิ่งจะรู้ว่าเป็นเบาหวาน นั่นคือเบาหวานขึ้นตา ยิ่งในกรณีที่พบโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง โรคเหล่านี้เป็นแล้วเป็นเลยนะ อย่างดีก็แค่ช่วยชะลอไม่ให้อวัยวะเสื่อมหรือเสียเร็ว เช่น ไตเริ่มไม่ดี ก็ต้องรักษาเบาหวานและควบคุมปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจจะยืดเวลาที่จะต้องล้างไตออกไปได้อีก จาก 5 ปี เป็น 10 ปี
เพราะฉะนั้น ถ้าคนคนหนึ่งเข้าเกณฑ์เบาหวาน แต่เป็นไม่มากและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดน้ำหนักลงได้ อันนี้น้ำตาลจะเป็นปกติเลย เราก็จะบอกว่าเขาหายแล้ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ปล่อยตัวเหมือนเดิม มันกลับมาใหม่แน่ๆ เพราะตามหลักแพทย์ถือว่าไม่หาย ยิ่งถ้ามีอายุมากขึ้น แม้จะไม่อ้วนมากเท่าตอนแรกที่เป็น อ้วนขึ้นนิดหน่อยก็มีโอกาสที่จะเป็นแล้ว
ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ
โรงพยาบาลพญาไท 3
ขอขอบคุณhttps://www.phyathai.com/news