มะเร็งเต้านม

“มะเร็งเต้านม” ไม่ได้เป็นแค่ในผู้หญิง ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นได้

Views

ภัยเงียบของผู้หญิง ไร้ซึ่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า

มะเร็งเต้านม นับเป็นภัยเงียบของผู้หญิงเพราะมักมาโดยไม่มีสัญญาณเตือน โดยเป็นโรคร้ายอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทย คิดเป็น 20-30% ของมะเร็งทั้งหมดในผู้หญิง ซึ่งโรคนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแต่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นปัญหาผู้หญิงทั่วโลกเลยทีเดียว

 
ผู้ชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้

หลายคนอาจคิดว่ามะเร็งเต้านมมักเกิดขึ้นกับผู้หญิงเท่านั้น แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ผู้ชายก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน จากสถิติพบว่าเมื่อมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นมา จะเป็นผู้ป่วยเพศหญิงกว่า 100 คน และจะเป็นผู้ชายจำนวน  1 คน  หรือคิดเป็นไม่เกิน 1% ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด

 
ผู้หญิงอายุ 50 ปี กลุ่มเสี่ยงสูง

นายแพทย์สุชาติ กฤตสิงห์ ศัลยแพทย์ เฉพาะทางศัลยศาสตร์ทั่วไป แพทย์ประจำโรงพยาบาล พริ้นซ์ ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ได้ให้ข้อมูลว่า มะเร็งของเต้านม เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนส์ ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอายุที่มากขึ้น ประจำเดือน กรรมพันธุ์ ลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวัน การมีบุตรช้า การไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการใช้ยาต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับฮอร์โมน ดังนั้น ฮอร์โมนเป็นตัวกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้เร็วขึ้น ผู้หญิงจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในวัย 50 ปี จึงควรหลีกเลี่ยงในปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการไม่ออกกำลังกาย


คลำเจอก้อนที่เต้านมรีบพบแพทย์

อันดับต้น ๆ ของผู้ที่มาพบแพทย์ มักจะมาด้วยสาเหตุที่ว่า คลำเจอก้อนที่เต้านม นอกจากนี้ ยังมาด้วยพบเลือดออก หรือ มีน้ำผิดปกติออกจากหัวนม ซึ่งไม่ได้มาจากการตั้งครรภ์และให้นมบุตร  บางรายมีอาการเจ็บหรือปวดที่บริเวณเต้านม ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นอาการเบื้องต้น  หากคลำเต้านมด้วยตนเองแล้วพบอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด

 
หมั่นตรวจคัดกรอง รู้ก่อน รักษาก่อน

ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มีวิธีการรักษาที่ดี ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดน้อยลง ดังนั้น ควรหมั่นตรวจเช็คคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ โดยผู้ที่มีประวัติอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถตรวจคัดกรองได้เมื่อมีอายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถตรวจคัดกรองโดยเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการเอกซเรย์เต้านม

 
วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

ในเบื้องต้นสามารถตรวจด้วยตนเองได้  และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ คือ 7 วันก่อนและหลังมีประจำเดือน โดยมี ท่านอนราบ นอนราบในท่าสบาย ใช้ผ้าขนหนูม้วนหรือใช้หมอนรองที่บริเวณหลังและไหล่ข้างที่จะตรวจ  ยกแขนข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างคลำให้ทั่วบริเวณเต้านมและรักแร้ ท่ายืนหน้ากระจก ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัวตามสบาย สังเกตเปรียบเทียบเต้านมทั้ง 2 ข้าง ยกแขนขึ้น 2 ข้างประสานกันเหนือศีรษะ สังเกตรอยดึงรั้ง หรือรอยบุ๋ม มือท้าวเอวแล้วโน้มตัวไปข้างหน้า 

ส่วนทิศทางการคลำ สามารถคลำแบบก้นหอยหรือแบบตามเข็มนาฬิกา คลำจากบริเวณหัวนม วนออกตามเข็มนาฬิกา ไปจนถึงบริเวณรักแร้ คลำแบบแนวนอนขึ้นลงขนานกับลำตัว คลำโดยใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำสลับขึ้นลงไปมาทีละแถว ให้ทั่วทั้งเต้านม คลำแบบรัศมีรอบเต้านมหรือคลำแนวคลื่น เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมเข้าหาฐานหัวนม และทำซ้ำเป็นรัศมีรอบเต้านม

739987

631119

นอกจากการตรวจด้วยตนเองแล้ว ยังมี การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม ใช้คลื่นความถี่สูง เหมาะสำหรับคนอายุน้อย หากตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อ สามารถบอกได้ว่าก้อนเนื้อนั้นมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่  และการตรวจเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลเมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษ สามารถตรวจหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติได้อย่างละเอียด ทำให้ค้นพบมะเร็งระยะเริ่มแรกได้รวดเร็ว เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อเยื่อเต้านมที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งอาจดูกลมกลืนกับเนื้อร้าย


เสริมหน้าอกไม่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

การผ่าตัดเสริมหน้าอก ไม่ได้ส่งผลกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งผู้ที่เสริมหน้าอกสามารถตรวจคัดกรองได้ตามปกติ ด้วยการเอกซเรย์โดยวิธีเมมโมแกรม แต่อาจจะตรวจละเอียดกว่าผู้ที่ไม่ได้เสริมหน้าอก เนื่องจากมีซิลิโคนขวางอยู่