“นิ่วในถุงน้ำดี” เป็นโรคที่เริ่มพบได้บ่อยมากขึ้นตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยชรา สาเหตุเกิดจากการตกผลึกของหินปูน (แคลเซียม) หรือคอเลสเตอรอลที่มีอยู่ในน้ำดี ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดสมดุลของน้ำดี หากก้อนนิ่วไปอุดถุงน้ำดี อาจทำให้ถุงน้ำดีอักเสบ และหากมีก้อนนิ่วติดค้างอยู่ที่ถุงน้ำดีเป็นเวลานาน อาจกระตุ้นให้เกิดเป็นมะเร็งถุงน้ำดีได้
>> 4 สัญญาณอันตราย “นิ่วในถุงน้ำดี” และวิธีการรักษา
นอกจากคนที่อยู่ในภาวะอ้วน เบาหวาน ทาลัสซีเมีย โลหิตจาง และคนที่รับประทานยาลดไขมันบางชนิด จะเสี่ยงต่อโรคนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว รู้หรือไม่ว่า อาหารการกินบางอย่างก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้อีกด้วย
ออกซาเลต สาเหตุของโรคนิ่ว
จริงๆ แล้วนอกจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว ก้อนนิ่วยังสามารถไปอุดตันในอวัยวะอื่นๆ ได้อีก เช่น “นิ่วที่ไต” “นิ่วที่ท่อไต” “นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ” และ “นิ่วในท่อปัสสาวะ” สาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วอาจไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ทำให้เกิดก้อนนิ่วได้ เช่น ดื่มน้ำน้อย มีโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคอ้วน และมีพ่อแม่ที่เคยเป็นโรคนิ่วมาก่อน อีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดก้อนนิ่วได้ คือการบริโภคอาหารที่มีออกซาเลตสูงมากเกินไป
ออกซาเลต เป็นสารมีฤทธิ์ในการยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียมและแร่ธาตุที่สำคัญหลายชนิดในกระแสเลือด หากรับประทานเป็นประจำทุกวันในปริมาณมาก ออกซาเลตจะเข้าไปตกผลึกสะสมในไต กระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะอื่นๆ ใกล้เคียง อาจทำให้เป็นนิ่วได้
อาหารที่ออกซาเลตสูง ได้แก่
- ช็อกโกแลต
- โกโก้
- น้ำชา
- มันเทศ
- ผักโขม
- ใบชะพลู
- ผักแพว
- ผักเสม็ด
- หน่อไม้
- ผักกะโดน
- ยอดใบมันสำปะหลัง
- ใบชะพลู
- หัวไชเท้า
- ขึ้นฉ่าย
- คะน้า
- มะเขือ
- แครอท
- บอน
- เผือก
- องุ่นแดง
- สตรอว์เบอร์รี
- ผักติ้ว
- ผักเม็ก
- ผักหวานป่า
หากต้องกินอาหารที่มีออกซาเลตสูง ควรทำอย่างไร ?
อาหารอย่างช็อกโกแลต น้ำชา โกโก้ ไม่ควรกินมากเกินไป หรือติดต่อกันนานเกินไป ควรสลับไปรับประทานอาหารประเภทอื่นบ้าง
หากเป็นผัก ควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนกิน กินเสร็จควรดื่มน้ำตามมาก ๆ จะทำให้สารออกซาเลตตกค้างในร่างกายน้อยลง และที่สำคัญควรรับประทานผักเหล่านี้คู่กับเนื้อสัตว์ด้วย