หนึ่งในโรคมะเร็งที่พบในคนไทยมากที่สุด นอกจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ และมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว ยังมี มะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่หลายๆ คนอาจฟังแล้วไม่คุ้นเคยเท่าที่ควร เพราะคนใกล้ตัวอาจยังไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้ แต่แท้ที่จริงแล้ว มะเร็งลำไส้ใหญ่ พบมากกว่าที่คุณคิด และปัจจัยเสี่ยงที่ชัดๆ ก็มาจากพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่เหมาะสมของเราเองนั่นแหละ
พฤติกรรมการกินอันตราย เสี่ยง “มะเร็งลำไส้ใหญ่”
ทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อแดงติดไขมัน หมูสามชั้น รวมไปถึงอาหารจานด่วน (ฟาสฟู้ด) อาหารทอด เนื้อสำเร็จรูปอย่างไส้กรอก แฮม แหนม เพราะนอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการไม่ครบแล้ว ยังมีกากใยอาหารน้อย ไม่ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่ายแต่อย่างใด (เรียกง่ายๆ ว่า ถ่ายยากนั่นเอง)
นอกจากนี้เนื้อสัตว์ปิ้งย่าง หรือผ่านการปรุงอาหารที่ใช้อุณหภูมิสูง รวมไปถึงอาหารรสจัด รสเค็ม โซเดียมสูง เช่น อาหารหมักดอง ก็เสี่ยงที่จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น อาจส่งผลให้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
นอกจากพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ถูกหลัก 5 หมู่แล้ว (เพราะขาดกากใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย) ยังรวมถึงกรรมพันธุ์ (คนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน หรือเป็นโรคมะเร็งอื่นๆ มาก่อน) และพฤติกรรมในการใช้ชีวิตอื่นๆ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และเป็นโรคอ้วน ขาดการออกกำลังกาย (ซึ่งเป็นผลมาจากการทานอาหารไม่ถูกหลัก 5 หมู่)
อ่านต่อ >> 8 พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ที่คุณอาจไม่รู้ตัว
สัญญาณอันตราย โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
หากมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระในปริมาณน้อย ไม่ได้ถ่ายทุกวัน ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน ถ่ายอุจจาระและมีความข้นเหนียวติดโถส้วม สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีกลิ่นรุนแรง ให้รีบพบแพทย์เพื่อเช็คให้ละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะมีอาการอื่นตามมา