ผู้หญิงวัยทำงาน ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน หาความผิดปกติ ลดอัตราเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมเกิดจากเนื้อเยื่อของเต้านม มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจจะเกิดกับท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมที่สำคัญได้แก่ ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ การรับประทานอาหารไขมันสูง ไม่ออกกำลังกาย การได้รับฮอร์โมนเป็นเวลานานกว่า 5 -10 ปี เช่น ยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยทองล้วนทำให้เพิ่มความเสี่ยงได้ และปัญหาที่พบ คือ หญิงไทย เพิกเฉยต่อการตรวจมะเร็งเต้านมในแต่ละปี ส่งผลให้เซลล์มะเร็งก่อตัวอย่างรวดเร็วและมาพบแพทย์จึงรู้ว่ามะเร็งร้ายลุกลามอยู่ระยะ 3 และ 4 แล้ว ซึ่งยากแก่การรักษา
นายแพทย์ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวถึงสถานการณ์มะเร็งเต้านมว่า มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในสตรีไทยเป็นอันดับต้น ๆ ทุก 1 ชั่วโมง จะพบว่าสตรีไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม 1 คน เมื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์โรคมะเร็งเต้านมในประเทศไทย พบว่า ภาคเหนือ มีอุบัติการณ์โรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย โดยพบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศหญิง มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั้งหมด 8,239 ราย เฉลี่ยปีละ 1,648 ราย ค่าเฉลี่ยอัตราอุบัติการณ์โรคมะเร็งเต้านมเพศหญิงจังหวัดภาคเหนือ มีค่าเท่ากับ 27.9 ต่อ ประชากร 1 แสนราย
ตรวจ “มะเร็งเต้านม” ด้วยตัวเองบ่อยแค่ไหน เมื่อไร ถึงจะดีที่สุด ?
สาเหตุการป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ ถ้าพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ดังนั้น การลดอัตราการเสียชีวิตที่ดีที่สุด
การค้นหาผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก มี 3 วิธี คือ
- การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน 3 – 7 วันหลังหมดประจำเดือน ด้วยสามนิ้ว สามสัมผัส สกัดมะเร็งเต้านม
- การตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์
- การตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม แม้การตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอ็กซเรย์จะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่การให้บริการยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากนี้ ให้สังเกตอาการผิดปกติ เช่น มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ มีสิ่งผิดปกติไหลออกจากหัวนม หัวนมถูกรั้งหรือบุ๋ม ผิวเต้านมเหมือนผิวเปลือกส้ม ให้รีบไปตรวจที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน