เป็นที่พิสูจน์กันมาแล้วจากงานวิจัยต่างๆ พบว่า “มะเร็งเต้านม” มีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมากที่สุด จาก “พันธุกรรม” ดังนั้นใครก็ตามที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน ควรเข้ารับการตรวจหามะเร็งก่อนที่จะสายเกินไป แต่เรามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และต้องเข้ารับการตรวจหามะเร็งเต้านมเมื่ออายุเท่าไร Sanook! Health มีข้อมูลจาก Mahidol Channel มาฝากกัน
มะเร็ง กับพันธุกรรม
อ. นพ. วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง และเสริมสร้าง คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ หากพบคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง เราก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งมากกว่าคนปกติ
มะเร็งเต้านม กับพันธุกรรม
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมีมากมาย แต่ที่มีการพิสูจน์ทางการแพทย์ ทางพันธุกรรม และยีนอย่างชัดเจนแล้ว คือปัจจัยทางพันธุกรรม โดยมะเร็งเต้านมเป็นเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณเต้านม และเซลล์ท่อน้ำนมเป็นเซลล์ที่พบความผิดปกติมากที่สุด
มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 เพราะเป็นเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวกระจายได้อย่างรวดเร็ว และรุนแรงถึงชีวิต
เมื่อไร? เราถึงควรเข้ารับการตรวจโรคมะเร็งเต้านม
ใครที่พบว่ามีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม ควรเข้ารับการตรวจหามะเร็งเต้านมตั้งแต่เนิ่นๆ สำหรับอายุที่เหมาะสมในการตรวจหามะเร็งนั้น สามารถกะคร่าวๆ ได้จากอายุของสมาชิกในครอบครัวที่ตรวจพบเจอโรคมะเร็งในครั้งแรก กล่าวคือ หากมีน้องสาวที่ตรวจพบโรคมะเร็งในช่วงอายุ 25 ปี แปลว่าเราก็ควรเข้ารับการตรวจหามะเร็งเต้านมตั้งแต่ช่วงอายุก่อน 25 ปี เป็นต้น
ตามปกติทั่วไปแล้ว ผู้หญิงไทยมักพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่แม้จะมีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็อาจพบโรคมะเร็งในอายุที่น้อยกว่า 40 ปีได้เช่นกัน
ทำไมผู้หญิงแต่ละคนถึงเป็นโรคมะเร็งในช่วงอายุที่ต่างกัน?
ยีนที่อยู่ในร่างกายของแต่ละคนจะแสดงออกมาในช่วงเวลาที่ต่างกัน หากเรามียีนผิดปกติในร่างกาย อาจไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นโรคมะเร็งเต้านมเสมอไป เพียงแต่อาจจะมีความเสี่ยงสูง และยีนที่ผิดปกตินี้อาจจะแสดงตัวออกมาเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นเราจึงต้องตรวจพบให้เจอก่อนว่าเรามีความเสี่ยงหรือเปล่า และอาจจะต้องทำการผ่าตัด รับประทานยา หรือทำการรักษาในแบบอื่นๆ เพื่อยับยั้งไม่ให้เป็นมะเร็ง
มะเร็งเต้านม พบไว รักษาไว ไม่เสียชีวิตเสมอไป
แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง เพราะมะเร็งเต้านมจัดว่ายังเป็นมะเร็งชนิดที่ดีกว่ามะเร็งอีกหลายชนิดในร่างกาย เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด ส่วนใหญ่จะเซลล์ไม่ดี แต่ส่วนใหญ่มะเร็งเต้านมจะมีการพยากรณ์โรคออกมาดีมาก (การอธิบายผลที่น่าจะเกิดขึ้นของโรคออกมาได้อย่างชัดเจน) เพราะจากสถิติของโรงพยาบาลศิริราช พบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะ 0, 1 และ 2 สามารถมีโอกาสอยู่รอดปลอดภัยไปอีก 10, 20 หรือ 30 ปีได้มากถึง 90% เลยทีเดียว ดังนั้นคนที่มีความเสี่ยงควรรีบพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ และอย่าเพิ่งหมดกำลังใจในการเข้ารับการรักษากับแพทย์