ยาคุมกำเนิด นอกจากจะใช้คุมกำเนิดแล้ว หลายๆ คนทานยาเพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของผิวพรรณ ปรับสมดุลของฮอร์โมน ปรับอารมณ์ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่จุดประสงค์หลักๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องของการคุมกำเนิดในช่วงที่ยังไม่พร้อมจะมีบุตร นอกจากถุงยางอนามัยของผู้ชายแล้ว ก็มียาคุมกำเนิดชนิดทานที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้หญิงมากที่สุด เพราะหาซื้อได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บตัว ค่าใช้จ่ายน้อย และสามารถหยุดทานในเวลาที่ต้องการหยุดได้เอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมัยนี้ยาคุมกำเนิดตามท้องตลอดจะค่อนข้างปลอดภัยมากแล้วก็ตาม แต่หากใช้ยาคุมกำเนิดไม่ถูกวิธี อาจมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมได้
ยาคุมกำเนิด กับ มะเร็งเต้านม
อ. นพ. วิษณุ โล่สิริวัฒน์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง และเสริมสร้าง คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลับมหิดล เปิดเผยว่า มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในบรรดามะเร็งทุกส่วนของผู้หญิง 1 ใน 8 ของผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม เกิดจากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ครอบครัว ญาติพี่น้องเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หรืออาจมีฮอร์โมนผิดปกติ เพราะเต้านมของผู้หญิงสัมพันธ์กันกับฮอร์โมนในร่างกาย และมีรายงานทางการแพทย์บางชิ้นระบุว่า ฮอร์โมนในร่างกาย มีความสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านมด้วย
การใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน เช่น มากกว่า 5 ปีขึ้นไป และการซื้อยาคุมกำเนิดทานเองตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และซื้อยาคุมกำเนิดทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้
นอกจากนี้ ใครที่เคยทานยาคุมกำเนิดนานๆ ฉีดยาคุมกำเนิด ทานยาปรับฮอร์โมนต่างๆ อาจจะส่งผลเกิดก้อนเนื้อ ถุงน้ำ หรือความผิดปกติอื่นๆ ในเต้านมได้อีกด้วย
ทานยาคุมกำเนิดอย่างไร ให้ห่างไกลจากมะเร็งเต้านม
จะให้ผู้หญิงไม่ทานยาคุมกำเนิดเลย ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นก่อนเริ่มต้นทานยาคุมกำเนิด จึงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ และศัลยแพทย์ก่อนทาน เพื่อการเลือกชนิดของยาคุมกำเนิด รวมถึงปริมาณของฮอร์โมนที่อยู่ในยาดังกล่าวให้เหมาะสมกับผู้หญิงเป็นรายๆ ไป เพราะหากซื้อยาคุมกำเนิดทานเอง เราไม่อาจทราบได้ว่าปริมาณของฮอร์โมนที่อยู่ในยาคุมกำเนิดชนิดนั้นๆ เป็นปริมาณที่เหมาะสมกับเราหรือไม่ การทานยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณของฮอร์โมนมากเกินไปอาจกระตุ้นให้เกิดก่อนเนื้อ หรือความผิดปกติอื่นๆ ในเต้านมได้ ควรทานยาคุมกำเนิดตามข้อบ่งชี้ที่กำกับเอาไว้ในฉลากของยาเท่านั้น และตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอด้วย
ทำอย่างไรเมื่อตรวจพบก้อนเนื้อที่เต้านม
- พบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม
- หากเป็นก้อนเล็กที่ยังไม่มีความผิดปกติอะไร แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการทุกๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี
- หากก้อนเนื้อมีขนาด หรือลักษณะหน้าตาที่เปลี่ยนแปลงไป แพทย์อาจทำการเจาะ หรือผ่าตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ
- ทำการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ต่อไป (ทานยา ผ่าตัด ฯลฯ)