กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เตือนภัยมะเร็งรังไข่ภัยเงียบของผู้หญิง เนื่องจากระยะเริ่มแรกของโรคไม่แสดงอาการ ส่วนใหญ่มักพบในระยะท้าย ๆ ที่มะเร็งลุกลามมากแล้ว ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร แนะควรตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันภัยมะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีพบเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในหญิงไทย
อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งรังไข่
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงทั่วโลก มีอุบัติการณ์การเกิดโรค 6.6 คนต่อประชากรหญิงแสนคน ผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกปีละ 295,414 คนสำหรับประเทศไทย มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีพบเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในหญิงไทย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย รายงานว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ราว 2,500 คน หรือคิดเป็นอุบัติการณ์การเกิดโรค 5.7 คนต่อประชากรหญิงแสนคน และมีผู้เสียชีวิตราว 1,100 คนต่อปี หรือมีอัตรา 3.5 คนต่อประชากรหญิงแสนคน มะเร็งรังไข่พบได้ทุกกลุ่มอายุแต่พบมากในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะท้ายที่มะเร็งลุกลามมากแล้ว เนื่องจากโรคนี้ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดง ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
สาเหตุของโรคมะเร็งรังไข่
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงเป็นมะเร็งรังไข่ อย่างไรก็ตามสาเหตุของโรคนี้ อาจมาจากหลาย ๆ ปัจจัย อาทิ ปัจจัยด้านอายุ สภาพแวดล้อม ประวัติสุขภาพที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ รวมถึงประวัติของครอบครัว ผู้หญิงที่มีความผิดปกติของยีนเพิ่มโอกาสเสี่ยงการเป็นมะเร็งรังไข่ เป็นต้น
อาการของโรคมะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่ ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดง แต่หากมีอาการอึดอัดในช่องท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร น้ำหนักขึ้นหรือลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์
การวินิจฉัยและรักษาโรค
แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษามะเร็งรังไข่จากระยะของมะเร็งและความต้องการมีบุตรของผู้ป่วย โดยอาจพิจารณาการผ่าตัดร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตามผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญต่อการตรวจสุขภาพก่อนมีอาการโดยการตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อสามารถตรวจพบมะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติ คนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่